จาก “บ้านเอื้อฯ” สู่ “บ้านหลังละล้าน” คนจนหมดสภาพ แบกหนี้ไม่ไหว

เป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้มีบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

โดยในเดือน ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการ “บ้านล้านหลัง” ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงินสินเชื่อ 6 หมื่นล้านบาท หาก ครม.อนุมัติ คาดว่าจะเปิดตัวในเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ เริ่มให้ลูกค้าที่สนใจยื่นขอกู้ตั้งแต่ 2 ม.ค.2562 เป็นต้นไป และทำนิติกรรมสัญญาได้ภายใน 30 ธ.ค.2562

เงื่อนไขพิเศษที่ผู้มีรายได้น้อย คนที่เพิ่งสร้างครอบครัว คนที่ต้องการมีบ้านหลังแรก หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ จะได้รับจากโครงการนี้ คือ

หากเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท และกู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เข้าร่วมโครงการ หลังละไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้ดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 1-5 คงที่ 3% ต่อปี ส่วนปีที่ 6 ถึงตลอดอายุสัญญา จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว MRR -0.75% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 40 ปี หรือเท่ากับว่าในช่วง 5 ปีแรก ผู้มีรายได้น้อยจะผ่อนค่างวดเริ่มต้นเดือนละ 3,800 บาทเท่านั้น

บ้านและที่อยู่อาศัยเฟสแรก ที่เข้าร่วมโครงการ 2.7 แสนหน่วย ในจำนวนนี้เป็นบ้านในโครงการของการเคหะแห่งชาติ (กอช.) เช่น บ้านเอื้ออาทร และบ้านที่หลุดจำนอง หลายหมื่นยูนิต

โครงการบ้านล้านหลัง ไม่ใช่รูปแบบแรกของนโยบายประชานิยมซื้อใจชาวบ้าน ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลแทบทุกยุคต่างผลักดันโครงการประชานิยมด้านที่อยู่อาศัยด้วยกันทั้งสิ้น

หากมาย้อนดูข้อมูล ปี 2546 รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทรสำหรับ “ผู้มีรายได้น้อย” และ “ข้าราชการ” ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ราคายูนิตละไม่เกิน 3.9 แสนบาท โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้างเป็นเงินไม่เกิน 8 หมื่นบาทต่อยูนิต

แม้ว่าจะมีข้อครหาตลอดทางว่า ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากไม่สามารถเป็นเจ้าของบ้านเอื้ออาทรได้ เพราะกู้เงินจากธอส.ไม่ผ่าน เนื่องจากส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีแหล่งรายได้ชัดเจน อีกทั้งมีการทุจริตเรียก “หัวคิว” จากผู้รับเหมา รวมถึงมีการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านเอื้ออาทรในราคาถูกๆ ทำเลห่างไกล สุดท้ายไม่มีคนซื้อและกลายเป็นโครงการร้าง

แต่ผลปรากฎว่าเมื่อปิดตัวโครงการไปเมื่อปี 2557 มีการสร้างบ้านเอื้ออาทรรวมแล้ว 2.8 แสนยูนิต จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6 แสนยูนิต

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2557 ภาระหนี้สินโครงการบ้านเอื้ออาทรอยู่ที่ 3.36 หมื่นล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายจริง 1,174 ล้านบาท ล่าสุดในช่วงกลางปี 2560 เหลือบ้านเอื้ออาทรค้างอยู่ไม่เกิน 1 หมื่นยูนิต หลังจากเลหลังขายโครงการให้เอกชนแบบ “ยกตึก”

โครงการบ้านเอื้ออาทร

ปี 2552 รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ผลักดันโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย หรือ “บ้านบีโอไอ” โดยให้เอกชนที่ขายบ้านหรือคอนโดยูนิตละไม่เกิน 1-1.2 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี ผลที่ตามมา คือ เกิดปัญหาคอนโดล้นตลาด และภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากเงินภาษีไปจำนวนหนึ่ง

รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยังออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ หลังเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ผ่านมาตราการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 แสนบาท สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยภายในปี 2552 และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2551-28 มี.ค.2553 ส่งผลให้ภาครัฐสูญรายได้ 3 หมื่นล้านบาท

ปี 2554 รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโครงการ “บ้านหลังแรก” โดยให้ผู้ที่ไม่เคยมีบ้านมาก่อนและซื้อบ้านหลังละไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้เงินคืนภาษี 10% หรือปีละไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาทตลอดโครงการ

ขณะนั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการขยับราคาบ้านหลังแรกจากเดิมไม่เกินหลังละ 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางราย

แม้แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เอง ก่อนหน้าที่จะมีโครงการบ้านล้านหลัง ได้ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ฯมาแล้วครึ่งหนึ่ง โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ระหว่างพ.ย.2558-เม.ย.2559 เป็นเวลา 6 เดือน ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

พร้อมทั้งให้ธอส.ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่เคยถูกปฎิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และให้นำค่าใช้จ่ายซื้อบ้านไปหักลดหย่อนภาษีได้ 20% ของมูลค่าบ้านได้ด้วย

จากนั้นได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย 2 โครงการ ได้แก่

มี.ค.2559 อนุมัติโครงการ “บ้านประชารัฐ” โดยปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ประชาชนซื้อหรือสร้างบ้านหลังแรก ราคาตั้งแต่ 7 แสนบาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท พร้อมปล่อยกู้ดอกเบี้ยพิเศษให้ผู้ประกอบการใช้สร้างบ้านประชารัฐ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

พ.ค.2559 อนุมัติโครงการ “บ้านธนารักษ์ประชารัฐ” โดยให้กรมธนารักษ์สร้างที่อยู่อาศัยบนที่ราชพัสดุ และนำมาให้ผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการ ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2 หมื่นบาท เช่าอยู่ทั้งในระยะสั้น (Rental) และระยะยาว (Leasehold) ค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท

จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อนุม้ติวงเงินสินเชื่อให้ธกส.ปล่อยกู้ซื้อบ้านและสร้างบ้าน สำหรับให้ผู้มีรายได้น้อย เป็นวงเงินสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท 

มานพ พงศทัต ศาสตราภิชาน ภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “ไบรท์ทีวีออนไลน์” ว่า สนับสนุนมาตรการของทุกรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แต่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้มีรายได้น้อยหรือคนยากจน เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยก็ได้ เพราะเป็นการสร้างภาระให้ผู้ที่มีรายได้น้อยมากเกินไป

“อย่างบ้านหลังละ 1 ล้านบาท แม้ว่าในช่วง 5 ปีแรกจะผ่อนเดือนละ 3,800 บาท แต่ในระยะ 30 ปี คนจนต้องผ่อนบ้านเดือนละ 8,000 บาท กว่าจะผ่อนหมดก็เป็นเงิน 2 ล้านบาท ยิ่งถ้าเป็นคอนโดหรือบ้านจัดสรร คนเหล่าจะมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าส่วนกลาง” มานพกล่าว

นอกจากนี้ คนมีรายได้น้อยที่ซื้อบ้านมาแล้วแต่ผ่อนไม่ไหว เพราะไม่ได้มีภาระค่าผ่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ สุดท้ายต้องเสียบ้านไป กลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยอยู่ดี

มานพ พงศทัต

มานพ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีวิธีการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้คนที่มีรายได้น้อย โดยการให้เช่าที่อยู่อาศัยระยะยาว หรือแม้แต่ในอดีตหรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การเคหะแห่งชาติ ก็ใช้วิธีสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าอาศัยในระยะยาว และปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่หลายที่ เมื่อผู้มีรายได้น้อยเหล่านั้นยกฐานะขึ้นจนมีรายได้สูงขึ้นแล้ว ก็จะไปซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งมีความยั่งยืนกว่า

“รัฐบาลสามารถทำให้คนมีรายได้น้อยและคนจนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้ โดยการให้เช่าอาศัยระยะยาว 30 ปี ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้คนจนเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งมาพร้อมภาระแบกหนี้ยาวนาน 30 ปี” มานพกล่าว

มานพ ยังให้ข้อคิดว่า ใครที่คิดจะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ควรมีค่าผ่อนบ้านไม่เกิน 25% ของรายได้ในแต่ละเดือน เพราะไม่เช่นนั้น การซื้อบ้านมาจะเป็นการสร้างความทุกข์ที่ยาวนาน 30 ปีก็ได้

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) วิรไท สันติประภพ ส่งสัญญาณเตือนอย่างต่อเนื่องว่า รู้สึกเป็นห่วงหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยพุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้เสียในกลุ่มผู้กู้ที่มีภาระสูง

ดังนั้น การโหมปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้น้อยเพื่อซื้อบ้าน อาจไม่ใช้คำตอบที่ดีในยามนี้ เพราะลำพังภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายรายวันที่มีอยู่ ก็แทบจะเต็มกลืนแล้ว  

 

 

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า