ค่าใช้จ่ายพุ่ง! ครัวเรือนไทยห่วงกระเป๋าแฟบ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ เผยผลสำรวจค่าครองชีพครัวเรือนไทยเดือนส.ค.61 พบมีความกังวลราคาอาหาร-พลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่ครัวเรือน 23.2% ระบุ รายจ่ายเพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือนส.ค.2561 พบว่าดัชนีฯอยู่ที่ 44.8 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 45.1 เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองที่เป็นกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารสดและราคาพลังงานในประเทศที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.18% และ 0.68% ตามลำดับ

“การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดส่วนหนึ่ง เป็นผลเนื่องมาจากเทศกาลสารทจีนที่ทำให้ความต้องการอาหารสดเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศมีฝนตกชุกทั่วประเทศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ในขณะที่ราคาพลังงานภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

ผลสำรวจยังพบว่า ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังส่งผลให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 23.2% ของครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่สูงขึ้น นับเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นจากการสำรวจในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 12.8%

ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ขยับขึ้นเล็กน้อยเป็น 46.5 จาก 46.3 ในเดือนก่อน โดยครัวเรือนภาคเกษตรบางส่วนมีความกังวลลดลงในประเด็นภาระหนี้สินในอนาคต หลังรัฐบาลออกมาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 3 ปี (1 ส.ค. 2561-31 ก.ค. 2564) และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 1 ปี (1 ส.ค. 2561-31 ก.ค. 2562)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปในช่วงไตรมาสสุดท้าย (ต.ค.–ธ.ค.) ของปี 2561 ประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องยังเป็นในเรื่องของระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่คาดว่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของราคาอาหารสดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ รวมถึงค่าโดยสารสาธารณะบางประเภทที่ผู้ประกอบการหลายฝ่ายขอปรับขึ้น เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว แม้ภาครัฐจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องความกังวลของครัวเรือนต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า พบว่า ราว 2 ใน 3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังไม่มีความกังวลว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะทวีความรุนแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่ค่อยประสบปัญหาน้ำท่วม รวมถึงมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะคลี่คลาย

อย่างไรก็ดี ครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงท้ายปี 2561 มากกว่า โดยเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่อนข้างมีความกังวลว่า พื้นที่การเกษตรจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้ครัวเรือนขาดรายได้เลี้ยงชีพ

ทั้งนี้ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่าภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า