คิดอย่างไร? ทุนใหญ่ “ซีพี-ปตท.” เป็นเจ้าของรถไฟความเร็ว

เป็นปรากฎการณ์ที่สังคมกลับมาตั้งคำถามอีกครั้ง เกี่ยวกับบทบาทของบริษัท ปตท. หลังจากเมื่อ 2 เดือนก่อน ปตท.ส่งบริษัทลูก คือ  บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ เข้าซื้อซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าการลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท

ล่าสุด บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท. ได้เข้าซื้อ บริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) มูลค่า 9.7 หมื่นล้านบาท จนบริษัทเอกชน 10 แห่ง ต้องทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการให้ปตท.ยุติแผนการเข้าซื้อกิจการ เพราะเกรงว่า ปตท.จะเข้าไป “ผูกขาด” การผลิตไฟฟ้าและขายไอน้ำในนิคมอุตสาหกรรม

นับตั้งแต่ปตท.แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 51.11% และเปรียบตัวเองว่าเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ไปไกลและร่ำรวยกว่าในอดีตมาก

เพราะไม่เพียงแต่เป็นเจ้าของบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ โรงงานปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว และปั๊มน้ำมัน รวมถึงโรงงานไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่านับล้านล้านบาท

วันนี้ ปตท.ยังเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของร้านกาแฟ “คาเฟ่อเมซอน” ทั้งในและนอกปั๊มน้ำมัน กว่า 2,000 สาขา รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ “Jiffy” รวมทั้งเข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูง

ข้อมูลปี 2560 ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้ 1.95 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1.36 แสนล้านบาท

หากจะว่าไปแล้ว การปตท.รุกเข้าลงทุนธุรกิจต่างๆ โดยไม่มีรัฐบาลชุดไหนแตะเบรก และคอยสนับสนุนอยู่ห่างๆด้วยซ้ำ นั่นเพราะยิ่งปตท.รวยขึ้นเท่าไหร่ เงินปันผลที่ปตท.ส่งเข้าคลังก็เพิ่มขึ้น

จะมีคำถามคาใจอยู่บ้าง ก็ตรงที่ปตท.ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูง ทั้งๆที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ  แต่ที่แน่ๆ ปตท.เป็นกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่มีเงินเพียงพอที่จะลงทุนโครงการหลัก 2 แสนล้านบาทของรัฐบาลคสช.ได้

เช่นเดียวกัน เครือซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่สนับสนุนทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการทำรัฐประหาร

แต่ดูเหมือนว่าในช่วง 4 ปีของรัฐบาลคสช. กลุ่มซีพีจะมีบทบาทอย่างมาก ทั้งการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสนับสนุนนโยบายของคสช.ด้วยดี เช่น การทำนาแปลงใหญ่ ล่าสุดกลุ่มซีพีเสนอตัวเป็นผู้รับจ้างทำนาให้กับชาวนา

ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ การที่กลุ่มซีพี เป็นเจ้าแรกๆที่เสนอตัวลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง

โดยเมื่อปี 2558 กลุ่มซีพี และพันธมิตรจากจีน-ฮ่องกง เข้าพบพล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคมในขณะนั้น ขอร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “กรุงเทพ-พัทยา-ระยอง” 1.5 แสนล้านบาท

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เอง ก็สนับสนุนให้กลุ่มซีพีลงทุนโครงการนี้

“พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าโครงการนี้ลงทุนสูง หากรัฐทำแล้วอาจขาดทุน จึงอยากให้ซีพีดูแลลงทุนในส่วนของสายตะวันออก ส่วนกลุ่มไทยเบฟฯจะลงทุนในสายตะวันตก กรุงเทพฯ-หัวหิน” เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวระหว่างร่วมคณะรัฐบาลไปโรดโชว์ลงทุนที่กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ช่วง 26-30 มิ.ย.2559

ทว่าการเจรจาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพ-ระยอง ระหว่างกลุ่มซีพีและรัฐบาล ต้องใช้เวลา 3 ปี

สุดท้ายปรับเปลี่ยนเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา” พร้อมให้สิทธิในการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ 2 แปลง คือ ที่ดินสถานีมักกะสัน และที่ดินศรีราชา มูลค่าโครงการรวม 2.2 แสนล้านบาท และประกาศทีโออาร์ 30 พ.ค2561

ขณะที่การเปิดให้เอกชนซื้อซองประมูลในช่วงเดือนมิ.ย.-9 ก.ค.2561 ตัวเต็งอย่างกลุ่มซีพีเป็นหนึ่งเอกชน 31 รายที่เข้าซื้อซอง โดยเข้าซื้อซองในนามบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย)

ทุกวันนี้อาณาจักรซีพีใหญ่โตและเป็นเจ้าของหลากหลายธุรกิจใน 16 ประเทศทั่วโลก

หากไม่นับธุรกิจประกันภัย “ผิงอัน” ที่มีรายได้หลักอยู่ในจีน จะพบว่ารายได้ของกลุ่มซีพีในไทยมาจากธุรกิจค้าปุ๋ย ขายเมล็ดพันธุ์ ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป ข้าวถุงตราฉัตร ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ห้างแมคโคร ธุรกิจโทรคมนาคมและสื่อสาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ซีพีแลนด์) ผลิตและขายรถยนต์ยี่ห้อ MG เจ้าของร้านกาแฟ “True Coffee” เจ้าของตู้เติมเงิน “ทรูมันนี่”

ปี 2560 กลุ่มซีพีและบริษัทในเครือมีรายได้มากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และมีกำไรไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท

หลักๆแบ่งเป็น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) รายได้  5.23 แสนล้านบาท มีกำไร 1.52 หมื่นล้านบาท บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) รายได้ 4.89 แสนล้านบาท กำไร 1.99 หมื่นล้านบาท บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) รายได้ 1.86 แสนล้านบาท กำไร 6,178 ล้านบาท บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) รายได้ 1.47 แสนล้านบาท กำไร 2,322 ล้านบาท

นอกจากนี้ กลุ่มซีพียังเข้าไปกว้านซื้อที่ดินแถว อ.บ้านโพธิ์ และอ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ห่างจากแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตร เพื่อสร้างเมืองใหม่บนที่ดินนับหมื่นไร่อีกด้วย

เรียกได้ว่าที่ไหนหรือธุรกิจใดมีโอกาสสร้างกำไร กลุ่มซีพีจะเข้าไปคว้าโอกาสในขุมทรัพย์นั้นๆ ตามประสานักธุรกิจ

ล่าสุดกลุ่มซีพีอยู่ระหว่างพิจารณาจับมือกับกลุ่มปตท. เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อายุสัมปทาน 50 ปี

เมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่ที่มีทุนหนาและมี “ซุปเปอร์คอนเน็กชั่น” จับมือลงขันสร้างรถไฟความเร็วสูงอย่างนี้ คนไทยอย่างเราๆคงทำได้แค่นั่งมองตาปริบๆ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า