อาณาจักร “คิง เพาเวอร์” ในวันที่ไร้ “เจ้าสัววิชัย”

แม้ว่าวันนี้จะไม่มี “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” คอยกุมบังเหียนอีกแล้ว แต่อาณาจักรธุรกิจแสนล้าน อย่าง “คิง เพาเวอร์” ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบ 30 ปี ยังคงต้องก้าวเดินต่อไป

พร้อมๆกับการส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นสอง ซึ่งเป็นลูกชายและลูกสาวทั้ง 4 คนของเจ้าสัววิชัย คือ ลูกสาวคนโต “วรมาศ ศรีวัฒนประภา” ลูกชายคนรอง “อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา” ลูกสาวคนที่สาม “อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา” และลูกชายคนสุดท้อง “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา”

เจ้าสัววิชัย และลูกทั้ง 4 คน

โดยมี “เอมอร ศรีวัฒนประภา” ภรรยาของเจ้าสัววิชัย และเป็นแม่ของลูกๆทั้ง 4 คน เป็นศูนย์รวมใจ ซึ่ง เอมอร ถือเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคิง เพาเวอร์ และเธอคนนี้ ทำหน้าที่รองประธานกลุ่มฯ และเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน” ของบริษัทสำคัญๆในกลุ่ม มาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันนี้

ในขณะที่มือทำงานรุ่นบุกเบิกยังอยู่กับครบ ไม่ว่าจะเป็น “สมบัตร เดชาพานิชกุล” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิง เพาเวอร์ “จุลจิตต์ บุณยเกตุ” รองประธานกรรมการ มูลนิธิคิง เพาเวอร์ และ “สุวรรณ ปัญญาภาส” กรรมการและที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์

รวมทั้งยังมี “กนกศักดิ์ ปิ่นแสง” คนใกล้ชิดของเจ้าสัววิชัย และกุนซือคนสำคัญของกลุ่มคิง เพาเวอร์ คอยให้คำปรึกษาอยู่หลังฉาก

กนกศักดิ์ ปิ่นแสง (ขวา)

เป็นที่คาดหมายกันว่า อัยยวัฒน์ วัย 33 ปี จะเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อน อาณาจักรคิง เพาเวอร์ สืบต่อจากเจ้าสัววิชัยผู้เป็นพ่อ หลัง อัยยวัฒน์ ได้รับแต่งตั้งเป็น “ซีอีโอ” ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ เมื่อ 3 ปีก่อน หรือตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และคอยเป็นเงาติดตามเจ้าสัววิชัยมาเกือบสิบปี

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา

ปี 2552 ผมเข้ามาเป็นผู้ช่วยของคุณพ่อ ท่านไม่ได้กำหนดล่วงหน้านะครับว่าลูกแต่ละคนต้องอยู่ในบทบาทไหน แต่อาจเพราะพี่ๆ ไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ชั้นมัธยม

…ส่วนผมอยู่ใกล้คุณพ่อตั้งแต่เด็กจนเรียนจบมหาวิทยาลัย จึงรู้ใจท่านเร็วกว่าคนอื่น แล้ววันที่ผมเข้ามาก็ไม่มีตำแหน่งในบริษัทว่าง คุณพ่อจึงให้เป็นผู้ช่วย” อัยยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ “นิตยสารแพรว” ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

ในขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท คิง เพาเวอร์ รายหนึ่ง บอกกับ “ไบรท์ทีวี” ว่า “เจ้าสัววิชัย ให้ลูกชายและลูกสาวทั้ง 4 คน เข้ามาบริหารงานและสั่งงานในคิง เพาเวอร์ อย่างจริงจัง เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนท่านเอมอร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มฯ มากกว่าที่จะลงมาบริหารงานด้วยตัวเอง”

สำหรับตำแหน่งล่าสุดในกลุ่มคิง เพาเวอร์นั้น “ต๊อบ-อัยยวัฒน์” รั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม คิง เพาเวอร์ มีหน้าที่ดูแลในภาพรวม

“รัก-วรมาส” เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานพาณิชย์ (Chief Commercial Officer) ดูแลเรื่องจัดซื้อและด้านการตลาด

“ต้อล-อภิเชษฐ์” เป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) ดูงานในด้านการขายทั้งหมด

ส่วน “รุ่ง-อรุณรุ่ง” เป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (Assistant Chief Financial Officer) ดูแลงานด้านบัญชีการเงินของกลุ่ม

สำนักงานใหญ่ คิง เพาเวอร์

แม้จะแบกรับภาระหน้าที่แตกต่างกัน แต่วันนี้ 4 พี่น้องศรีวัฒนประภา มีภารกิจเดียวกัน คือ การทำให้อาณาจักรคิง เพาเวอร์ รุ่งเรืองต่อเนื่องจากรุ่นพ่อ

ซึ่งภารกิจแรกที่จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือ “เลือดใหม่” ของกลุ่มคิง พาวเวอร์ นั่นก็คือ การเปิดประมูลสัมปทานพื้นที่ร้านขายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และนี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของกลุ่มฯ ก็ว่าได้

เนื่องด้วยพื้นที่ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ เป็นแหล่งรายได้หลัก และเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงกลุ่มฯ มาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันดิวตี้ฟรีแห่งนี้สร้างรายได้ให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ปีละไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท จากรายได้ทั้งกลุ่มที่อยู่ที่ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2563

ที่สำคัญพื้นที่ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ ยังทำให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ มี “แต้มต่อ” ในธุรกิจร้านขายสินค้าปลอดภาษีในกรุงเทพ เพราะเป็นพื้นที่ตั้งของจุดส่งมอบสินค้า (pick up counter) สำหรับสินค้าปลอดภาษีที่นักท่องเที่ยวซื้อในกรุงเทพ และนำขึ้นเครื่องออกไปต่างประเทศ

แน่นอนว่าเค้กก้อนโตก้อนนี้ เป็นที่หมายตาของคู่แข่งรายสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเดอะมอลล์ ,กลุ่มเซ็นทรัล ,มอร์แดนฟรี ของเครือบางกอกแอร์เวย์สของตระกูล “ปราสาททองโอสถ” รวมถึงกลุ่มล็อตเต้จากเกาหลี ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจดิวตี้ฟรีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

และเป็นที่รู้กันดีว่า ธุรกิจดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัย “คอนเน็กชั่น” และมีการแข่งขันสูงเพื่อให้ได้มาซึ่งสัมปทาน เมื่อไม่มี “เจ้าสัววิชัย” แล้ว โจทย์ที่ยากและท้าทายตรงนี้จึงตกอยู่กับ อัยยวัฒน์ และหากทำไม่ได้ เป้าหมายที่กลุ่ม คิง เพาเวอร์ จะมียอดขายสินค้าดิวตี้ฟรี สูงติดอันดับ 5 ของโลก คงเป็นเรื่องห่างไกล

นี่ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่มีการกล่าวหาว่า คิง เพาเวอร์ หลบเลี่ยงการส่งผลประโยชน์เข้ารัฐ (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.) 1.42 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะยกฟ้องคดีนี้แล้ว แต่เรื่องราวยังไม่ยุติลงโดยง่าย

ภารกิจถัดมา คือ การเข้าบริหาร “ตึกมหานคร” ที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ซื้อมาจากบริษัทเพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) เป็นเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท

เพราะแม้ว่าการเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว จะช่วยต่อยอดธุรกิจดิวตี้ฟรีของกลุ่มฯ แต่เป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย และทำให้ อัยยวัฒน์และพี่น้อง ต้องลงทุนลงแรงปลุกปั้นไม่น้อย เนื่องจากเป็นสมรภูมิธุรกิจใหม่ ซึ่งกลุ่มคิง เพาเวอร์ยังไม่คุ้นเคย

อย่างไรก็ดี แม้จะสิ้น “เจ้าสัววิชัย” ไปแล้ว แต่ด้วยสายสัมพันธ์เก่าแก่ ที่เจ้าสัววิชัยเคยมีกับเพื่อนพ้องในแวดวงต่างๆ รวมถึงนายทหารระดับสูง น่าจะประคับประคองให้ “ตระกูลศรีวัฒนประภา” ยังขยายอาณาจักรธุรกิจต่อไปได้ แม้ว่าจะไม่รวดเร็วเท่ากับรุ่นพ่อ

ไม่ว่าจะเป็น “เนวิน ชิดชอบ” เพื่อนรักของเจ้าสัววิชัย ซึ่งต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จนอาณาจักรคิง เพาเวอร์ เติบใหญ่กลายเป็นเครือธุรกิจแสนล้าน และครั้งหนึ่งเจ้าสัววิชัยได้ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” ว่า “ผมรู้จักกับคุณเนวิน ก็ไม่มีใครมารังแกผมหรอก ผมเชื่อว่าอย่างนั้น”

เนวิน ชิดชอบ

เจ้าสัววิชัย ยังแนบแน่นกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งทำให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้สัมปทานพื้นที่ดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิแต่เพียงรายเดียว มาตั้งแต่ปี 2549 และยังคงช่วยเหลือกันจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งอานิสงค์เหล่านี้ย่อมส่งถึงรุ่นลูก

นอกจากนี้ ด้วยสายสัมพันธ์ที่เจ้าสัววิชัย มีกับนายทหารในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำให้พี่น้องศรีวัฒนประภา ยังได้รับการเอ็นดู แม้ว่าเจ้าสัววิชัยจะไม่อยู่แล้ว

แต่ทว่าการรักษา “คอนเน็กชั่น” จากคนรุ่นพ่อสู่คนรุ่นลูกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่างวัยต่างยุค และแม้ว่าจะมีความเกรงใจและเคารพกัน แต่นั่นไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ “แน่นปึ๊ก” ระดับที่เรียกว่ามองตาแล้วรู้ใจแน่นอน

ในวันที่ไร้ “เจ้าสัววิชัย” คงต้องติดตามกันต่อไปว่า อาณาจักรคิง เพาเวอร์ จะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด และเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า