สภาพัฒน์หั่นจีดีพีทั้งปีโต 4.2% ลดเป้าส่งออกเหลือ 7.2%

สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 3 โต 3.3% ต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส หลัง “ส่งออกชะลอตัว-นักท่องเที่ยวทรุด” แต่คาดทั้งปียังโตได้ 4.2% พร้อมลดเป้าส่งออกทั้งปีเหลือ 7.2% จากผลกระทบกระทบสงครามการค้า ระบุเศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอตัว กดดันเศรษฐกิจไทยปี 62 เติบโต 3.5-4.5%

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ไตรมาส 3/2561 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 4.6% และไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 4.9% ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.3%

ทั้งนี้ จีดีพีไตรมาส 3 ที่ขยายตัวดังกล่าว เป็นไปตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ซึ่งทำให้การส่งออกไทยไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 2.6% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 12.3% นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวเพียง 0.5% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 13.7% ซึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปที่ลดลง จากผลของเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต และการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย

ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการเร่งตัวของการอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

“มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐไตรมาส 3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน”นายทศพรระบุ

รายงานข่าวระบุว่า การขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 3/2561 เป็นระดับการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส หรือนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2560 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ สศช.คาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีปีนี้เหลือ 4.2% ซึ่งอยู่ในกรอบล่างของคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4.2-4.7% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์การส่งออกทั้งปีว่าจะขยายตัวเพียง 7.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 10% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4.7% การลงทุนรวมขยายตัว 3.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.4% ของจีดีพี

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% และมูลค่าส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 4.6% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ตามการเริ่มปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ท่ามกลางการปรับตัวของประเทศต่างๆ ต่อการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดโลก

“เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น จะส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญๆ และปริมาณการค้าโลก ชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติในสหรัฐ และประเทศสำคัญๆเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ”นายทศพรระบุ

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 4.2% ส่วนการลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัว 5.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% และบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 5.8% ของจีดีพี

นายทศพร ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% นั้น มาจากแรงสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 2.การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนรวม โดยการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง

3.การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว 4.การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง และ5.การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าการผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ สศช.มีข้อเสนอแนะประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2561 และปี 2562 ว่า ควรให้ความสำคัญใน 6 ด้าน ได้แก่

1.การสนับสนุนการฟื้นตัวและขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีน ให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ควบคู่กับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวรายได้สูง และการกระจายรายได้สู่เมืองรองและชุมชน

2.การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญในเรื่องการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก และแนวทางปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า

3.สนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยสนับสนุนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการ และมาตรการสำคัญในช่วงหลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง

4.การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEsและเศรษฐกิจฐานรากโดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

5.การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และ6.การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า