เปิดความลับ! แชมป์แกะสลักน้ำแข็ง 10 สมัย จากเมืองไทยที่ไร้หิมะ

เปิดศักราชใหม่ขึ้นมาคนไทยก็มีเรื่องได้ยินดีกันระดับโลก เป็นฝีมือจากนักศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ไปสร้างชื่อคว้ารางวัลชนะเลิศ แชมป์แกะสลักหิมะนานาชาติ ครั้งที่ 11 “The 11th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2019” ซึ่งระหว่างจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4- 7 มกราคม 2562 ที่เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 10 ให้กับประเทศไทย

ไม่เพียงสร้างความฮือฮาให้กับคนในประเทศ ในระดับนานาชาติเองก็ชื่นชมประเทศไทยไม่น้อย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เมืองไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร อากาศร้อนอบอ้าว ไม่เคยมีหิมะตก…แต่กลับสร้างผลงานได้เหนือกว่าอีกหลายประเทศ โดยวิทยาลัยสารพัดช่างตราด กวาดรางวัลกลับมาประเทศไทยได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ Top grade Awards ซึ่งเป็นเป็นรางวัลสูงสุดของการแข่งขัน รางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม Best creative award และรางวัลศิลปะ Artist Award

ซ้อมหนัก 3 เดือน 8 ชม.ต่อวัน

เส้นทางสู่การป้องกันแชมป์ 10 สมัยให้กับทีมชาติไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย “ครูแก้ว-รุ่งนภา อุดมชลปราการ” ครูผู้ฝึกสอนและควบคุมทีมนักศึกษาชุดแชมป์  วิทยาลัยสารพัดช่างตราด เปิดผยว่า ทีมแกะสลักหิมะของวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ประกอบด้วย 4 คน ได้แก่ นายชโยทิต สุขสวัสดิ์ นักเรียนระดับชั้น ปวช.2, นายธวัชชัย สนธิพิณ   นักเรียนระดับชั้น ปวช.3, นางสาวน้ำฝน จันทร์จรูญ นักเรียนระดับชั้น ปวช.3 และ นางสาวพรรณนิภา นามวิชัย  นักเรียนระดับชั้น ปวส.1 ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาแผนกวิชาการโรงแรม โดยไม่ได้เรียนในสาขาศิลปะ การคัดเลือกนักศึกษามาร่วมทีมเริ่มจากการให้นักศึกษาวาดรูปเพื่อดูทักษะด้านศิลปะ จากนั้นให้นักศึกษาแกะสลักผลไม้ เพื่อดูทักษะการแกะสลักและการใช้ข้อมือ ก่อนจะคัดเลือกเหลือเพียง 4 คน เพื่อเก็บตัวฝึกซ้อม โดยเริ่มจากแกะสลักฟักทอง จากนั้นให้แกะสลักโฟม แล้วจึงเป็นการแกะสลักน้ำแข็ง โดยโค้ชที่มาฝึกสอนให้กับเด็ก ๆ นั้น เป็นอดีตแชมป์แกะสลักที่เคยไปคว้ารางวัลมาก่อนหน้านี้

แบบร่างในการฝึกซ้อม
ลงมือแกะสลักในการแข่งขันจริง

“ทั้ง 4 คนกินนอนอยู่ที่วิทยาลัยฯ ทุกเช้าต้องตื่นมาออกกำลังกาย เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมเพราะต้องไปเจอกับอากาศหนาวจัด ฝึกแกะสลักน้ำแข็ง 3 เดือนเต็ม วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งในการแข่งขันจะต้องแกะสลักหิมะขนาด 3 คูณ 3 เมตร ในระยะเวลาจำกัด แต่เราไม่มีน้ำแข็งใหญ่ขนาดนั้น ต้องฝึกแกะจากน้ำแข็งซองลูกใหญ่ที่เอามาตั้งให้ติดกัน ได้ขนาด 1 คูณ 1 เมตร เราใช้วิธีวาดแบบร่างลงบนกระดาน แล้วแบ่งสเกล 1 คูณ 1 เมตร เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกแกะสลักน้ำแข็งแต่ละส่วน เมื่อนำแต่ละส่วนมาต่อก็จะได้ขนาดตามเกณฑ์การแข่งขัน แต่ประเทศเราอากาศร้อนจัด น้ำแข็งที่ซื้อมาละลายเร็ว เด็ก ๆ จึงไม่สามารถนั่งพักได้ ต้องเร่งแกะให้ทันก่อนน้ำแข็งละลาย จึงต้องทำงานหนัก กินอาหารกันตรงที่ฝึกแกะน้ำแข็งทุกวัน บางครั้งเด็ก ๆ ก็รู้สึกท้อ ครูก็จะบอกว่า เดี๋ยวเรามากอดกัน ส่งพลังให้กัน ทำให้ครูเชื่อมั่นว่าเด็กของเราสู้ได้อย่างแน่นอน”ครูแก้วกล่าว

ไม่เพียงแค่การฝึกซ้อมที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจอย่างหนัก การคิดภาพที่จะแกะสลักก็เป็นโจทย์สำคัญ โดยผลงานที่ได้รับรางวัลคะแนนสูงสุดครั้งนี้ มีชื่อว่า Rescue Mission Rivets Thamluang Caves in Chiangrai Thailand ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า ที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย เป็นภาพนักประดาน้ำค้นพบทีมหมูป่าหลังการติดอยู่ในถ้ำ 10 กว่าวันที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก สะท้อนถึงความมีน้ำใจและมิตรภาพที่นานาชาติสัมผัสได้ ไม่เพียงเท่านั้นคณะครู อาจารย์ต่างช่วยกันวางแผนทั้งการเดินทางและการทำงานในแต่ละวัน โดยออกเดินทางไปยังสถานที่แข่งขันล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับอุณหภูมิระดับติดลบ

ระดมสมอง-ปรับแบบ-แก้ปัญหา

“ธวัชชัย สนธิพิณ” นักเรียนระดับชั้น ปวช.3 ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมแกะสลักหิมะครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า น้ำแข็งที่ใช้ในการแข่งขันเป็นหิมะที่ถูกบีบอัดให้เป็นก้อนขนาดสี่เหลี่ยม 3 คูณ 3 เมตร มีความแน่นแต่เปราะบางกว่าน้ำแข็งที่เคยฝึกแกะสลักมา จึงต้องใช้ความระวังเป็นพิเศษ แต่ข้อดีคือแกะง่ายกว่าน้ำแข็ง นอกจากนี้ทางทีมได้ทำยอดเป็นลายกนกต่อขึ้นไปจากก้อนน้ำแข็งที่ต้องแกะขึ้นไปอีก 2 เมตร ทำให้ชิ้นงานมีความสูงมากกว่าของประเทศอื่น อีกทั้งลายกนกของไทยเป็นลวดลายที่สวยงาม เมื่อนำมาเสริมเข้าไปทำให้ดูสง่างาม ซึ่งทุกวันจะต้องมีการประชุมร่วมกันเพื่อพูดคุยถึงปัญหาและวางแผนการทำงานของวันต่อไป โดยการแข่งขันมีเวลาแกะสลัก 2 วัน เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 6.00-21.00 น.

“ลายกนกที่เราทำเสริมนั้น ต้องต่อจากยอดขึ้นไปไม่ให้ล้ม วิธีการของเราคือนำหิมะมาขูดให้เป็นขุยละเอียดเพื่อเชื่อมชิ้นงานเข้าด้วยกันได้อย่างแข็งแรงและไม่หักลงมา แต่พอเรามีลายกนกอยู่ด้านบนแล้วต้องแกะสลักหิมะเป็นโพรงถ้ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่ถ้ำจะถล่มลงมาได้ เราจึงต้องปรับแบบให้ในถ้ำมีเสาหินย้อยลงมาตรงตำแหน่งเดียวกับยอดกนกเพื่อน้ำหนักเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งตามธรรมชาติของถ้ำหลวงก็มีหินย้อยเช่นเดียวกัน”ธวัชชัยกล่าว

ธวัชชัย บอกด้วยว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดของการทำงานคืออากาศที่หนาวเย็น อุณหภูมิที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิงทำให้ร่างกายไม่คุ้น แต่การที่ได้เดินทางไปประเทศจีนก่อนล่วงหน้าช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้ดีขึ้น อีกทั้งตอนฝึกซ้อมต่างคนต่างแกะก้อน­น้ำแข็งของใครของมัน แต่เวลาแข่งขันจริงต้องแกะจากน้ำแข็งก้อนเดียวกัน จึงต้องวางแผนและแบ่งงานกันอย่างชัดเจนเป็นขั้นตอน ว่าใครจะขึ้นรูป ขึ้นโครงก่อน โดยเฉพาะการแกะสลักโพรงถ้ำที่ต้องทำงานในพื้นที่แคบ ๆ และต้องระวังไม่ให้การกระทบกับชิ้นงาน

“พวกเรารู้สึกภูมิใจมากครับที่สามารถนำรางวัลกลับมาให้คนไทยทุกคนได้ ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้พวกเราชนะทีมอื่น ๆ คือ ‘ลายไทย’ เพราะชิ้นงานของประเทศอื่น ๆ จะดูคล้ายกัน แต่ของเรามีลายไทยที่มีความสวยงาม อ่อนช้อย และมองแล้วรู้เลยว่าเป็นของประเทศไทย นี่คือเอกลักษณ์ของไทยที่ทำให้เราชนะชาติอื่น ๆ ได้” ธวัชชัยกล่าว

สำหรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาที่เคยเข้าร่วมแข่งขันแกะสลักหิมะมาก่อนหน้านี้ หลังจบการแข่งขันพวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ข้อมูลว่า เด็กที่ได้รับรางวัลทั้งหมดต่างมีบริษัทเอกชนมาจองตัวเพื่อให้ไปทำงานด้วย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมหรือจัดเลี้ยง เพราะความสามารถที่เด็กมีเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการศึกษาสายอาชีพ ยิ่งได้รับรางวัลกลับมายิ่งเป็นการการันตีฝีมือ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องตกงานเลย

ผลงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี

การแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งจากหิมะครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่วิทยาลัยสารพัดช่างตราดเท่านั้นที่ได้รับรางวัล แต่ยังมี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี และ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 2 ร่วมกัน โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 5 ประเทศ 2 เขตปกครองพิเศษ ได้แก่ ไทย รัสเซีย เดนมาร์ก อังกฤษ จีน ฮ่องกง และ ไต้หวัน  รวมจำนวนทั้งสิ้น 55  ทีม ซึ่งหลังการแข่งขันครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดงานถึงกับออกปากชมทีมแกะสลักน้ำแข็งของไทยว่ามีการพัฒนาหนีจากประเทศอื่น ๆ ไปไกล และอยากให้ทีมไทยเป็นพี่เลี้ยงให้กับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้มีทีมจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขันมากขึ้นด้วย

ข่าวดีแบบนี้…ปรบมือสิคะรออะไร

ผลงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด

ด่วน! เครนยักษ์ ถล่มทับคนงาน เบื้องต้นมีรายงานการเสียชีวิต 6 ราย

ด่วน! เครนยักษ์ ถล่มทับคนงาน ไซด์งานก่อสร้าง ในโรงงานแห่งหนึ่ง ในจ.ระยอง เบื้องต้นมีรายงานการเสียชีวิต 6 ราย

ทัวร์ลงยับ! หนุ่มสงสัย หลังได้ใบสั่ง ‘ไม่จอดรถให้คนข้าม’ ลั่น ข้อหานี้มีด้วยเหรอ?

หนุ่มสงสัย! โพสต์โวยได้ใบสั่ง ‘ไม่จอดรถให้คนข้ามถนน’ แต่คดีพลิก เมื่อชาวเน็ตพาทัวร์ย้อนกลับ ไปสอบใบขับขี่มาจากไหน

เจ้าของร้านหมูกระทะ แจงดราม่า ใช้ไม้เรียวตีพนักงาน เป็นไปตามข้อตกลง

แขวะกลับแรง! เจ้าของร้านหมูกระทะ ย่านพัทยา แจงดราม่า ใช้ไม้เรียวตีพนักงาน พร้อมโพสต์เฟซฟาดชาวเน็ต อย่าตัดสินอะไรที่ยังไม่รู้จากปาก

เตรียมซึ้งกับเจ้าพ่อเพลงอกหัก “YOUNG CAPTAIN” ในคอนเสิร์ต 11 พ.ค. นี้!

เตรียมซึ้งกับเจ้าพ่อเพลงอกหักจากจีน “YOUNG CAPTAIN” พร้อมบินมาดามใจเหล่าสาวกคนใจอ่อน ที่ประเทศไทยกันแล้ว 11 พ.ค. นี้

5 ราศี การงาน – การเงิน – โชคลาภ เป็นดั่งใจหวัง

อาจารย์กิติคุณ พลวัน เผย ดวงเมษายน 2567 : 5 ราศี หลุดจากบ่วงความทุกข์ ก้าวสู้ความสุข พร้อมแจกเลขมงคล และวิธีเสริมดวงสุดปัง!
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า