ปตท.สผ.ชนะประมูลก๊าซเอราวัณ-บงกช “ศิริ” ชี้ค่าไฟฟ้าลด 17 สต./หน่วย นาน 10 ปี

ครม.อนุมัติ “ปตท.สผ.และพันธมิตร” ชนะประมูลแหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ-บงกช” หลังเสนอขายก๊าซที่ 116 บาท/ล้านบีทียู ทำให้รัฐประหยัดได้ 5.5 แสนล้านบาท พร้อมแบ่งผลกำไรให้รัฐ 68% ของกำไร รวม 10 ปีกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ “ศิริ” ชี้ซื้อก๊าซถูกลงช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 17 สตางค์/หน่วย ได้นาน 10 ปี

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.หนองคาย ว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบริษัท เอ็มอีจี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา เป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในการประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งครั้งนี้ กลุ่มปตท.สผ. เสนอราคาและผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐมากกว่าคู่แข่ง โดยข้อเสนอประมูลแหล่งเอราวัณนั้น กลุ่มปตท.สผ. เสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติให้รัฐที่ราคา 116 บาท/ล้านบีทียู และเสนอส่วนแบ่งกำไรให้รัฐ 68% ของผลกำไรทั้งหมด ส่วนข้อเสนอประมูลแหล่งบงกช กลุ่มปตท.สผ. เสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติให้รัฐที่ราคา 116 บาท/ล้านบีทียู และเสนอส่วนแบ่งกำไรให้รัฐ 68% ของกำไรทั้งหมดเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งได้สัมปทานแหล่งเอราวัณไปจนถึงปี 2565 ขายก๊าซจากแหล่งดังกล่าวให้รัฐที่ราคา 165 บาท/ล้านบีทียู ส่วน ปตท.สผ. ซึ่งได้รับสัมปทานแหล่งบงกชไปจนถึงปี 2566 ขายก๊าซจากแหล่งดังกล่าวให้ภาครัฐที่ราคา 214 บาท/ล้านบีทียู ดังนั้น การที่ปตท.สผ. ซึ่งชนะการประมูลครั้งนี้ เสนอขายก๊าซทั้ง 2 แหล่งที่ราคา 116 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ภาครัฐประหยัดเงินได้ 5.5 หมื่นล้านบาท/เดือน หรือ 5.5 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า

“การที่ภาครัฐสามารถซื้อก๊าซธรรมชาติจาก ปตท.สผ. ในราคาที่ถูกลงตั้งแต่ปี 2565-2566 เป็นต้นไปจนหมดอายุสัญญา 10 ปี จะคิดเป็นเงินที่ประหยัดเงินได้กว่า 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งเงินที่ประหยัดได้นี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ 0.29 บาท/หน่วยในช่วง 10 ปี แต่เนื่องจากก๊าซที่ผลิตได้ต้องแบ่งไปใช้อย่างอื่น เช่น ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ใช้เป็นเชื้อเพลิง NGV เมื่อเฉลี่ยออกไปหมดแล้ว จะทำให้ส่วนลดเฉพาะค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 0.17 บาท/หน่วย จากปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าขายปลีกอยู่ที่ 3.6 บาท/หน่วย และทำให้ราคาเชื้อเพลิง NGV ถูกลง 0.50 บาท/กิโลกรัม”นายศิริกล่าว

นอกจากนี้ การที่ปตท.สผ. เสนอส่วนแบ่งผลกำไรให้ภาครัฐที่ 65% ของกำไร จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากประมาณการเดิม 1 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปี

“รวมแล้วการประมูลครั้งนี้ภาครัฐ สังคม ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์รวมกัน 6.5 แสนล้านบาท ในช่วง 10 ปีข้างหน้า นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป”นายศิริกล่าว

นายศิริ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเรียกกลุ่มปตท.สผ. เข้าหารือ และเซ็นสัญญาในเร็วๆนี้จากนั้นในเดือนก.พ.2562 ปตท.สผ.จะได้เข้าเตรียมการก่อนจะเริ่มผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่งอย่างต่อเนื่อง หลังสัญญาสัมปทานที่ภาครัฐทำกับเอกชนรายเดิมสิ้นสุดลงในปี 2565 และ 2566 ไปแล้ว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า