กสทช.ตั้งศูนย์ร้องทุกข์ฯ ปิดเว็บขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ใน 2 วัน

กสทช.จับมือสตช. เปิดตัวศูนย์ร้องทุกข์ฯ ให้ผู้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ร้องทุกข์โดยตรง ลดเวลาปิดเว็บไซด์ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เหลือไม่เกิน 2 วัน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ร่วมกันเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ออนไลน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักงาน กสทช.

ทั้งนี้ ศูนย์ฯดังกล่าว จะช่วยลดขั้นตอนการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ ให้เหลือเพียง 1-2 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 7-8 เดือน โดยผู้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์สามารถร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งประจำที่ศูนย์ฯ จากนั้นเจ้าพนักงานสอบสวนจะส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ กสทช. ดำเนินการแจ้งกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ให้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์

ส่วนการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) จะต้องดำเนินการเพื่อขอออกหมายศาลเรียกต่อไป

พล.อ.สุกิจ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับ สตช. อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ โดยสำนักงาน กสทช.ได้เชิญผู้แทนสถานทูตสหรัฐ และญี่ปุ่น เข้าร่วมเปิดตัวศูนย์ฯด้วย เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารว่าผู้ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สำนักงาน กสทช. โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทุกวัน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า นอกจากผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์จะถูกปิดกั้นเว็บไซต์แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีตามกฎหมายฟอกเงินกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้น จึงขอให้หยุดการดำเนินการกระทำความผิด เพราะจะมีการนำกฎหมายฟอกเงินมาร่วมพิจารณาด้วย

วันเดียวกัน สำนักงาน กสทช. ได้มอบใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ช่วงความถี่ 1745-1750 MHz คู่กับ 1840-1845 MHz และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ช่วงความถี่ 890-895 MHz คู่กับ 935-940 MHz ให้แก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) โดยใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2561 สิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. 2576 ส่วนใบอนุญาต 900 MHz มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2561 สิ้นสุดในวันที่ 15 ธ.ค. 2576

ก่อนหน้านี้ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ได้ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz งวดที่ 1 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 6,693.385 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ให้กับสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2561 และได้นำเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาประมูลสูงสุด เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 4,301.40 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มาชำระให้สำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561

“DTN สามารถให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz กับประชาชนได้นับตั้งแต่วันได้รับใบอนุญาตไปจนถึงวันสิ้นสุดอายุใบอนุญาต โดยสำนักงาน กสทช. จะกำกับดูแลการให้บริการ อัตราค่าบริการ และการบริการเพื่อสังคมของบริษัท ให้เป็นตามเงื่อนไขใบอนุญาตที่บริษัทได้รับ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการใช้บริการในอัตราที่เป็นธรรม” นายฐากรกล่าว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า