“สนธิรัตน์” ถกรพ.เอกชน หลังรัฐจ่อคุม “ค่ายา-ค่าหมอ” ปัดข่าวลือโดนล็อบบี้

“สนธิรัตน์” รับข้อร้องเรียนสมาคมรพ.เอกชน ก่อนหารือ “ปลัดพาณิชย์-กรมการค้าภายใน” สรุปมาตรการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์อีกครั้ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขู่หากถอยจะฟ้อง ม.157

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ประชุมนัดพิเศษร่วมกับตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมประกันชีวิตและวินาศภัย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆให้รอบด้าน หลังจากเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม

นายสนธิรัตน์ กล่าวหลังการหารือว่า โรงพยาบาลเอกชนเห็นด้วยในการทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ แต่ขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาโครงสร้างค่าบริการทางการแพทย์ให้รอบคอบ เนื่องจากโรคบางโรคแม้จะเหมือนกัน แต่อาจจะใช้วิธีการรักษาไม่เหมือนกัน เครื่องมือที่นำมาใช้ก็แตกต่างกัน บริการก็แตกต่างกัน หรือกระทั่งหมอที่รักษาก็มีความเชี่ยวชาญต่างกัน ดังนั้น การกำหนดโครงสร้างค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมารวม ถือว่าไม่เป็นธรรม

“เมื่อโรงพยาบาลเอกชนอยากพูด อยากเสนอข้อคิดเห็น ก็ต้องเปิดโอกาสให้ ส่วนที่มีข่าวลือว่ามีการล็อบบี้ ไม่จริง ไม่มีใครมาล็อบบี้ผม และเมื่อผมได้รับฟังข้อเสนอต่างๆมาแล้ว จะนำมาพิจารณาต่อว่าจะดำเนินการอย่างไร ยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนจุดยืนในการดูแลผู้บริโภค แต่วิธีการต้องเหมาะสม เป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งผมจะมีการหารือกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายในอีกครั้ง ก่อนสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ”นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะเสนอมติที่ประชุม กกร.ในเรื่องดังกล่าว ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทันสัปดาห์หน้าหรือไม่ เนื่องจากต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำยาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน เข้าอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เนื่องจากการกำหนดค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาลเอกชนมีมาตรการโปร่งใสอยู่แล้ว และที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ควบคุมดูแล ดังนั้น มั่นใจได้ว่าการบริการของโรงพยาบาลมีความโปร่งใส

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการที่ควรจะนำมาใช้ในการดูแลค่ายาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ คือ การกำหนดส่วนต่างของต้นทุนและกำไรที่เหมาะสม เพราะค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันมาก เช่น ค่ายาแพงกว่า 20-400 เท่า ค่าผ่าตัดไส้ติ่งเอกชนแพงกว่ารัฐ 14 เท่า แต่ของสิงคโปร์ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนห่างกันแค่ 2.5 เท่า

“ที่ผ่านมามูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 200 เรื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอัตราการร้องเรียนที่สูงมากเป็นอันดับสอง แสดงว่าอัตราค่าบริการทางการแพทย์และเวชภัณฑ์นั้นสูงมาก เป็นปัญหาต่อผู้ใช้บริการในวงกว้าง จึงมีการร้องเรียนเข้ามาอย่างมาก เช่นบางกรณีมีการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น”น.ส.สารีกล่าว

น.ส.สารี กล่าวว่า จะรอดูเรื่องนี้ต่อไป และหากกระทรวงพาณิชย์ไม่เดินหน้าหรือมีการเลื่อนเสนอครม.ตามมติกกร. ในการนำสินค้า เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ อยู่ในบัญชีควบคุม ก็จะฟ้องดำเนินคดีฟ้องร้องนายสนธิรัตน์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ต่อศาลปกครองตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ภายใน 2 สัปดาห์

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า