ศาลฯสั่ง “รฟม.” ห้ามปิด “ถ.แจ้งวัฒนะ” สร้างรถไฟฟ้า “สีชมพู” เหตุเป็นแค่คำสั่งภายใน

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งห้าม “รฟม.-ตร.นครบาล” ปิดเบี่ยงถนนแจ้งวัฒนะ สร้างรถไฟฟ้า “สายสีชมพู” ช่วง “มี.ค.-ก.ค.62” เหตุเป็นเพียงหนังสือสั่งการภายใน พร้อมระบุปิดเบี่ยงถนนนาน 2 ปี 8 เดือน ทำไม่ได้ เหตุจำกัดเสรีภาพการเดินทางเกินความจำเป็น ชี้ต้องขออนุญาตปิดเป็นคราวๆไป

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 39/2562 หมายเลขแดงที่ 403/2562 ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลา ลูน่า ผู้ฟ้องคดี กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราว บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อดำเนินงานตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ระหว่างเวลา 22.00-04.00 นาฬิกา

โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า หนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2561 เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ทราบแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทเพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้หนังสือสั่งการภายในดังกล่าวเป็นหนังสืออนุญาตให้บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ออกหนังสืออนุญาตแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือบริษัทซิโน – ไทยฯ โดยตรง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย

​นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวที่สั่งการให้ปิดเบี่ยงจราจรบนถนนตลอดความยาวของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยปิดเบี่ยงจราจร 1 ช่องทาง ด้านขวาชิดเกาะกลางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในพื้นราบ และปิดเบี่ยงเพิ่มอีก 1 ช่องทาง ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกในเวลากลางคืนบนสะพานข้ามแยก ตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 นาฬิกา มีระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564 ซึ่งการปิดเบี่ยงจราจรดังกล่าวเป็นการห้ามรถทุกชนิดวิ่งในช่องทางที่ปิดจราจร อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนบนถนน โดยไม่ระบุเหตุจำเป็นที่ต้องปิดจราจรเฉพาะทางตอนใด ในช่วงเวลาใด ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มีผลกระทบต่อการใช้ถนนของประชาชนเท่าที่จำเป็นในแต่ละช่วงเวลา และระยะเวลาที่ขออนุญาตปิดเบี่ยงจราจรเป็นเวลาถึง 2 ปี กับอีก 8 เดือน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขออนุญาตปิดจราจรเป็นการชั่วคราวตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น เมื่อการอนุญาตให้ปิดจราจรในลักษณะเช่นนี้ มีผลเท่ากับห้ามรถทุกชนิดวิ่งบนถนนถึง 2 ช่องทาง ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะอนุญาตตามแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทได้ และมีผลบังคับใช้ต่อประชาชนผู้ใช้ถนน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชอบที่จะต้องออกประกาศ ข้อบังคับ หรือระเบียบตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้ถนนในทางสายใด หรือเฉพาะทางตอนใดให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา

โดยอาจกำหนดเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต้องขออนุญาตเพิ่มเติมเป็นคราวๆได้ เพื่อมิให้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนเกินความจำเป็น และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป มิเช่นนั้นแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่อาจนำข้อสั่งการตามแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทไปจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งไม่อาจนำไปบังคับใช้ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ประชาชนผู้ใช้ถนนได้

​เมื่อหนังสืออนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชน มิได้เป็นการอนุญาต หรือออกเป็นประกาศ ข้อบังคับให้ถูกต้อง ตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 139 (1) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แล้วแต่กรณี หนังสืออนุญาตดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราว บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อการก่อสร้างตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 นาฬิกา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ้างถึงการได้รับอนุญาตตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยบริษัทซิโน – ไทยฯ กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรในพื้นราบทุกช่องทาง บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ หรือมีการออกประกาศ ข้อบังคับจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 สำหรับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า