“เทรดวอร์” ทุบส่งออกเม.ย.ติดลบ 2.57% -ห่วงรถยนต์ไฟฟ้า “จีน-เยอรมัน” แย่งตลาดรถยนต์ไทย

“พาณิชย์” เผยส่งออกเม.ย. ติดลบ 2.57% หลังผลกระทบสงครามการค้ายังมีต่อเนื่อง เผยส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลียทรุด เหตุโดนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน-เยอรมนีแย่งตลาด

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนเม.ย.2562 ว่า มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 18,555 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 2.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักสินค้าทองคำและน้ำมันแล้ว การส่งออกจะติดลบเพียง 1.2% โดยมีสาเหตุหลักจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังมีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือนเม.ย.อยู่ที่ 20,012 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนเม.ย.ไทยขาดดุลการค้า 1,457 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.2562) พบว่ามูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 80,543 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 79,993 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกไทยยังเกินดุลการค้า 549 ล้านเหรียญสหรัฐ

“แม้ว่าการส่งออกในเดือนเม.ย.จะติดลบ 2.57% แต่เราพบสัญญาณที่ดีในบางส่วน เช่น การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง 4 เดือนแรกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากไทยอยู่ในซัพพลายเชนของจีน แต่ขณะนี้จะพบว่าผลกระทบเริ่มลดลง เพราะสินค้ากลุ่มนี้ที่เดิมส่งออกไปจีน แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นส่งออกตรงไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้แทน ซึ่งเราก็หวังว่าเทรนด์นี้จะมียังในเดือนต่อๆไป”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่างๆนั้น แม้ว่าการส่งออกไปจีนยังติดลบ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า การส่งออกไปสหภาพยุโรปติดลบ 5.2% เนื่องจากเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังมีปัญหาอยู่และการบังคับใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมใหม่ และการส่งออกไปออสเตรเลียติดลบ 2.5% แต่การส่งออกไปตลาดสำคัญๆยังบวกอยู่ เช่น สหรัฐบวก 4.7% อินเดียบวก 3.4% ญี่ปุ่นบวก 0.03% อาเซียนบวก 0.9% เฉพาะตลาด CLMV ยังบวก 10% และรัสเซียบวก 6.6%

ส่วนการส่งออกสินค้าเป็นรายกลุ่มพบว่า สินค้าเกษตรกรและอาหารขยายตัวได้ค่อนข้างมาก ซึ่งรวมถึงการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ มังคุด ทุเรียน ส่วนสินค้าประมง เช่น ทูน่า ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยางและยางพารา นาฬิกา เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ และรถจักรยนต์บิ๊กไบค์ เป็นต้น โดยเฉพาะการส่งออกนาฬิกาไปอินเดีย

อย่างไรก็ตาม มีบางสินค้าที่ต้องติดตาม เช่น การส่งออกสินค้ารถยนต์ ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ารถยนต์ไปออสเตรเลียที่ลดลง เนื่องจากออสเตรเลียนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากเยอรมนีและจีนมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต้องปรับตัวให้ทัน ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกลดลง เช่น เหล็กและเหล็กกล้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และทองคำ เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ส่วนแนวทางการรับมือสงครามการค้านั้น สนค.ได้หารือกับเอกชนและมีคีย์เวิร์ดสำคัญ 2 คำ คือ การแสวงหาโอกาสในความขัดแย้งทางการค้า ซึ่งต้องใช้ความเร็ว (Speed) และต้องมีกลยุทธ์ (Strategy) คือ ต้องดำเนินยุทธศาสตร์การค้าควบคุมกับนโยบายลงทุน ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกต้องรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และให้ลูกค้าทำสัญญาซื้อขายสินค้ายาวขึ้นเป็น 6 เดือนถึง 1 ปี

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อประเมินเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ แต่หากจะทำให้การส่งออกไทยในปีนี้ไม่ติดลบ การส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 8 เดือนของปีนี้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีความเป็นไปได้ หากผู้ส่งออกไทยสามารถแสวงหาประโยชน์จากการที่สหรัฐและจีนต่างขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน แต่ต้องนี้ผู้ส่งออกไทยต้องเข้าถึงตลาดให้รวดเร็ว

“การส่งออกที่ลดลงเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก หลายประเทศเริ่มจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและชะลอขึ้นดอกเบี้ย ส่วนราคาน้ำมันมีแนวโน้มว่าจะพุ่งได้อีกจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ในขณะที่เราต้องป้องกันตัวเองในเรื่องค่าเงินบาท เช่น ในระยะกลางเราต้องสนับสนุนให้เอกชนไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งรีบหาโอกาสจากสงครามการค้า เช่น การรุกไปตลาดสหรัฐและจีนเพื่อทดแทนสินค้าที่ถูกขึ้นภาษี”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวถึงกรณีที่สหรัฐออกประกาศแบนบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ว่า จะมีผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ในไทยบ้าง แต่คงไม่มาก และประเด็นตรงนี้จะกระตุ้นให้จีนสร้างอะไรที่เป็นของตัวเองมากขึ้น

 

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า