ประชุมสภา 6 พฤศจิกายน 2562  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี  ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าแม่ยม ป่าแม่ต๋ำ และป่าแม่ร่องขุย บางส่วน ในท้องที่ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พ.ศ. ….
2.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ….
3.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับประกันความเสี่ยงทางการเมือง พ.ศ. ….
4.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
5.       เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)                     (การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า)
6.       เรื่อง     ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ                         สาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ….

เศรษฐกิจ – สังคม

7.       เรื่อง     ร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
8.       เรื่อง     แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win)
9.       เรื่อง     สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดย WEF ปี 2019 – 2020
10.      เรื่อง     สรุปรายงานผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business  2020
11.      เรื่อง     มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่าย                        ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน

ต่างประเทศ

12.      เรื่อง     การให้สัตยาบันพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน
13.      เรื่อง     ขออนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
14.      เรื่อง     การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เรื่อง การจัดทำร่างบันทึกความตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหาร
15.      เรื่อง     ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 19
16.      เรื่อง     ขอความเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แต่งตั้ง

17.      เรื่อง     การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
18.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
19.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
20.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าแม่ยม ป่าแม่ต๋ำ และป่าแม่ร่องขุย บางส่วน ในท้องที่ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าแม่ยม ป่าแม่ต๋ำ และป่าแม่ร่องขุยบางส่วน ในท้องที่ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ ทส. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดให้เพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าแม่ยม ป่าแม่ต๋ำ และป่าแม่ร่องขุย บางส่วน ในท้องที่ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดพะเยา

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ใหม่ 
                   2. กำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขรายการในใบอนุญาต โดยให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถยื่นคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาต  ในกรณีที่นำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนเรือประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง เครื่องมือทำการประมง พื้นที่ทำการประมง หรือห้วงเวลาที่กำหนดให้ทำการประมงได้หรือปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ ทำการประมง
                   3. กำหนดหลักเกณฑ์การโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ เพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถนำปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับการจัดสรรโอนให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่นได้ 

3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับประกันความเสี่ยงทางการเมือง พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับประกันความเสี่ยงทางการเมือง พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. แก้ไขเพิ่มเติมนิยาม คำว่า “กรมธรรม์” ให้หมายความรวมถึงกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงทางการเมืองที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ออกให้แก่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุน
                   2. กำหนดให้ ธสน. รับประกันความเสี่ยงทางการเมืองแก่ผู้ลงทุนหรือรับประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อของธนาคารของผู้ลงทุน สำหรับความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินกู้จากผู้ลงทุนเนื่องมาจากความเสี่ยงทางการเมือง 
                   3. กำหนดให้ ธสน. ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุนในกรณีที่ 
                             3.1 การกระทำหรือการละเว้นการกระทำใดของรัฐบาลของประเทศที่ผู้ลงทุนไปลงทุนซึ่งผู้ลงทุนได้ตกลงยินยอมด้วย  
                             3.2 การกระทำหรือการละเว้นการกระทำใดที่ผู้ลงทุนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายหรือปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ของประเทศที่ผู้ลงทุนไปลงทุน และ
                             3.3 กรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการ ธสน. กำหนด  
                   4. กำหนดให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ให้แก่ผู้ลงทุน หรือธนาคารของผู้ลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธสน. กำหนด โดยอย่างน้อยกรมธรรม์จะต้องระบุ
                             4.1 หน้าที่ของผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุน ในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งการชดเชยความเสียหายตามควรแก่กรณีตามกฎหมายของประเทศที่ไปลงทุนในทันที หรือภายในระยะเวลาอันสมควรนับแต่วันที่เกิดความเสียหายหรือวันที่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุนได้ทราบถึงความเสียหายนั้น  
                             4.2 กำหนดให้ ธสน. รับช่วงสิทธิหรือรับโอนสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของ ผู้ลงทุนมีต่อประเทศที่ผู้ลงทุนไปลงทุนและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อ ธสน. ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุน แล้วแต่กรณี 
                   5. กำหนดให้ ธสน. อาจนำความเสี่ยงทางการเมืองที่รับประกันแก่ผู้ลงทุน หรือธนาคารของผู้ลงทุนไปประกันต่อกับบริษัทประกันภัยหรือองค์กรอื่นที่รับประกันความเสี่ยงทางการเมือง ทั้งจำนวนหรือเพียงบางส่วนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธสน. กำหนด  
                   6. ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับประกันความเสี่ยงทางการเมือง และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมาใช้บังคับกับการรับประกันภัยต่อของ ธสน. เฉพาะความเสี่ยงทางการเมืองโดยอนุโลม 
                   7. กำหนดให้คณะกรรมการ ธสน. เป็นผู้กำหนดอัตราเบี้ยประกัน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุนที่เอาประกันภัย หรือบริษัทประกันภัยหรือองค์กรอื่นที่รับประกัน ความเสี่ยงอื่นทางการเมืองที่ ธสน. รับประกันภัยต่อ และให้มีการทบทวนอัตราดังกล่าว ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงทางการเมืองได้ตามสมควร 

4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   อก. เสนอว่า  
                   1. โดยที่พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับแล้ว และมาตรา 17 บัญญัติให้เพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชน หรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาจเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของมาตรฐานก็ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของกฎหมายในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้เป็นการออกกฎกระทรวงแทน
                   2. ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่า ระยะเวลาในการนำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ทันกำหนดวันที่พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมและเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ขึ้นใหม่ และได้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ             มาเพื่อดำเนินการ 
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก. 2915 – 2561 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5126 (พ.ศ. 2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 7 ลงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

5. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12   แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) (การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) (การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า) ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ 
สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   ยกเว้นอากรขาเข้าผลิตภัณฑ์ยารักษาหรือยาป้องกันโรคในตอนที่ 30 เฉพาะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และระบุ (P) ต่อท้ายในเลขทะเบียนตำรับยา เว้นแต่ยาที่มีการผลิตในประเทศ 11 รายการ

6. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติ ดังนี้
                   1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ 
                   2. อนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. และรายการประกอบแผนผังท้ายประกาศดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ  และให้ดำเนินการต่อไปได้ 
สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. สาระสำคัญของร่างประกาศ
                             1.1 กำหนดหลักการในการวางและจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
                             1.2 กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนผัง เพื่อส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการสาธารณูปโภค เป็นต้น
                             1.3 กำหนดแผนผังและข้อกำหนดเกี่ยวกับแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินแผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย  
                             1.4 กำหนดนโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของแผนผังตามข้อ 1.2  
                   2. สาระสำคัญของร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
                             2.1 กลุ่มพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม ประเภทชุมชนเมือง ประเภทรองรับการพัฒนาเมือง และประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 
                             2.2 กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม กำหนดให้รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม 
                             2.3 กลุ่มพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ที่ดินประเภทชุมชนชนบท ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม และที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน 
                             2.4 กลุ่มพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้  
                             2.5 พื้นที่อื่น ๆ (เขตทหาร แหล่งน้ำ)
                             2.6 แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แบ่งเป็น 5 แผนผัง และ 1 มาตรการ ประกอบด้วย แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย และมาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ 
                   3. สาระสำคัญรายการประกอบแผนผังท้ายประกาศฯ ประกอบด้วย 5 รายการ คือ รายการประกอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน (ขอบเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทและตำแหน่งที่ตั้ง) รายการประกอบแผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ (ตำแหน่งที่ตั้งสถานีดับเพลิง สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน) รายการประกอบแผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง (ตำแหน่งที่ตั้งและระยะทางของระบบคมนาคมและขนส่ง ถนนโครงการขนาดเขตทาง) รายการประกอบแผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ (ตำแหน่งที่ตั้งโครงการแหล่งน้ำ สถานีผลิตน้ำประปา อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำดิบ คลองเพื่อการระบายน้ำ คันป้องกันน้ำท่วม อุโมงค์ผันน้ำและแก้มลิง) และรายการประกอบแผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย (ที่ตั้งโครงการก่อสร้างสถานีดับเพลิง และศูนย์ปฏิบัติจังหวัด)

เศรษฐกิจ – สังคม

7. เรื่อง ร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้              
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ 4 ประการ ดังนี้ 
                   1. เพื่อให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ที่เหมาะสมกับความสมดุลของระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 
                   2. เพื่อหยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 
                   3. เพื่อให้มีการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเหมาะสม ยั่งยืน เป็นธรรม และเป็นฐานการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคำถึงถึงดุลยภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  
                   4. เพื่อให้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 
                   ร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติประกอบด้วยบทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครอบคลุม 3 ด้าน จำนวน 24 ข้อ ดังนี้ 
                   1. นโยบายด้านการจัดการป่าไม้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติจำนวน 13 ข้อ โดยจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ของรัฐ การทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติ การครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต ระบบสารสนเทศทรัพยากรป่าไม้ที่ยังไม่เหมาะสม การใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้อย่างไม่เหมาะสม และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ดังนี้

ข้อบทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ
1เชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐในการบริหารจัดการป่าไม้ทุกระดับให้มีเอกภาพและประสานกันตามห่วงโซ่การพัฒนาระหว่างการบริหารราชการทุกระดับ รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือและพัฒนากลไกหรือเครื่องมือ ในการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนาป่าไม้ของชาติในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการอย่างมีเป้าหมายและต่อเนื่อง
2กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตรา ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ประกอบด้วย               (1) ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ (2) ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศโดยกำหนดให้เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ และป่าชุมชน ให้ได้ตามเป้าหมายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดในแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ 
3จำแนกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการบริหารจัดการในภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม
4ปรับปรุงแนวเขตที่ดินป่าไม้ทุกประเภทของรัฐให้ชัดเจนและมีเอกภาพด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5พัฒนาระบบสารสนเทศทรัพยากรป่าไม้ทั้งในภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ให้มีมาตรฐาน เอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท และเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรอื่นของประเทศและกำหนดหน่วยงานหรือคณะบุคคลผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนและเหมาะสม
6ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทและหน้าที่ของทุกภาคส่วนให้มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วม รวมทั้งรับผิดชอบในการอนุรักษ์ การจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
7หยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ในที่ดินป่าไม้ของรัฐทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานที่ชัดเจน
8บริหารจัดการป่าอนุรักษ์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งป้องกันภัยธรรมชาติต่าง ๆ และรักษาสภาพธรรมชาติที่สวยงามหรือมีจุดเด่นเฉพาะตัว โดยให้คงไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติ รักษาดุลยภาพของระบบนิเวศให้มากที่สุด ซึ่งการใช้ประโยชน์ต้องกระทำเท่าที่จำเป็นตามศักยภาพหรือขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา การวิจัย และนันทนาการ 
9จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของรัฐอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจากการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ โดยให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบเวลา
10พัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์และการตลาดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสม
11ฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มีความสมบูรณ์ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการฟื้นฟูอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง มีการติดตาม ประเมินผล และเผยแพร่ผลการดำเนินงานต่อสาธารณะบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
12ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยประโยชน์ต่อชุมชน สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ป่าไม้ของประชาชน เป็นส่วนส่งเสริมให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง และเป็นการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
 
13พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าทั้งระบบ รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างเป็นรูปธรรม และสัตว์ป่าได้รับการคุ้มครอง รักษา และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

                   2. นโยบายด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติ จำนวน 4 ข้อ โดยจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เพียงพอของปริมาณไม้เศรษฐกิจ            ต่อความต้องการใช้ไม้ ความไม่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลจากป่าไม้ มาตรฐานการรับรองป่าไม้ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ไม่ยั่งยืน ดังนี้

ข้อบทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ
1ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งในที่ดินของรัฐที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์และในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่มิใช่ของรัฐให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไม้ และตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน
2ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลจากป่าไม้ครบวงจรในทุกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรป่าไม้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม
3พัฒนาและส่งเสริมการรับรองป่าไม้ตามมาตรฐานการรับรองป่าไม้ให้เป็นที่ยอมรับและได้รับการรับรองทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
4ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์การบริการจากป่าไม้อย่างสมดุล ยั่งยืน และเกื้อกูลระบบนิเวศ

                   3. นโยบายด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ ประกอบไปด้วยบทบัญญัติ จำนวน 7 ข้อ โดยจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ เอกภาพ ธรรมาภิบาล และความสอดคล้องกันในการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ข้อบทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ
1ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ให้สามารถบริหารจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขนาดที่เหมาะสม ลดความซ้ำซ้อน และปรับปรุงวิสัยทัศน์ ภารกิจ หรือพันธกิจของหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
2พัฒนาศักยภาพหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตให้กับประชาชนและการบริการอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
3พัฒนาและส่งเสริมให้มีธรรมาภิบาลในการบริหารงานป่าไม้ทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐมีการบริหารอัตรากำลังที่มีความคล่องตัว ยึดระบบคุณธรรม บุคลากรภาครัฐยึดค่านิยมในการทำงานเพื่อประชาชนและประเทศ มีคุณธรรมและมีการพัฒนาตามเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ
4พัฒนาบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรป่าไม้ทุกระดับให้มีความเป็นมืออาชีพในงานป่าไม้ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน รวมทั้งจัดสวัสดิการของบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองและรักษาทรัพยากรป่าไม้ในภาคสนามให้มีความเหมาะสมกับลักษณะงานที่ปฏิบัติและไม่น้อยกว่าบุคลากรสายงานอื่นที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน
5กำหนดให้มียุทธศาสตร์หรือแผนการวิจัยภาคป่าไม้ในนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือแผนการวิจัยระดับชาติ และ/หรือพิจารณาจัดตั้งสถาบันวิจัยป่าไม้ในระดับชาติ รวมทั้งสนับสนุนและพัฒนางานวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม ให้ตอบสนองต่อการปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ทั้งระบบ
6ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ             ป่าไม้ทั้งระบบ รวมทั้งพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย
7ให้มีคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่จัดตั้งเป็นการถาวรโดยกฎหมาย มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ประสานและให้คำแนะนำแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้พิจารณาจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ 

8. เรื่อง แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,500  ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 1,173.40 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ตามที่ กฟน. ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทางรวม 215.6 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จระยะทางรวม 46.6 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการดำเนินการ ระยะทางรวม 169 กิโลเมตร เนื่องจากแผนงานบางส่วนต้องรอดำเนินการพร้อมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ทำให้แผนงานของ กฟน. มีความล่าช้า ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายให้ กฟน. ดำเนินการลงทุนโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เร็วขึ้น โดยจากการสำรวจพื้นที่ที่มีแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รวมถึงมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ คือ ได้มีการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินหลักร่วมไปกับโครงการรถไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว กฟน. จึงขอความเห็นชอบแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,500 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 1,173.40 ล้านบาท ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

โครงการระยะทาง (กิโลเมตร)จำนวนเงิน (ล้านบาท)
1. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก)4.4745.2
2. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี-ถนนติวานนท์10.61,937.6
3. เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง)5.5931.0
รวม20.53,613.8
ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 59.7
รวมทั้งสิ้น 3,673.4

ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยแล้ว

9. เรื่อง สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดย WEF  ปี 2019 – 2020
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเรื่อง สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ซึ่งได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 โดยมีประเด็นที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ประเทศที่ครองสามอันดับแรกยังคงเป็นกลุ่มเดิม ในขณะที่อันดับของประเทศไทยลดลง 2 อันดับ แม้ว่าจะมีคะแนนดีขึ้น 0.6 คะแนน 
                             ผลการจัดอันดับในภาพรวมปี 2562 ปรากฏว่าสิงคโปร์ได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมด 141 ประเทศ ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยมีอันดับลดลง 2 อันดับ จากอันดับที่ 38 ในปี 2561 เป็น 40 ในปี 2562 แม้จะทำคะแนนได้ดีขึ้นเล็กน้อย จาก 67.5 เป็น 68.1 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในภาพรวมดีขึ้นเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงในรอบปีที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนและรวดเร็วมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน 
2.จุดเด่นและประเด็นที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมจากผลการจัดอันดับโดย WEF
                             2.1 ฐานขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยเด่น ได้แก่1) สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ ซึ่งได้คะแนน 90 จาก 100 คะแนน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและการบริหารจัดการหนี้ที่เสถียร 2) ภาคการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งได้คะแนน 85.1 จาก 100 และอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก และ 3) กรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นและยุติการประกอบธุรกิจได้โดยง่ายและส่งผลให้ธุรกิจมีพลวัตที่สูง ซึ่งได้คะแนน 72.0 จาก 100 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 21  
                             2.2 ด้านที่ได้มีการปรับปรุงและมีผลที่ชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ การนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมสารสนเทศมาใช้ (ICT adoption) ซึ่งมีคะแนนดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั้งในรูปแบบไม่เคลื่อนที่และเคลื่อนที่ (Fixed and mobile) ส่งผลให้อันดับรวมด้านนี้ดีขึ้น 2 อันดับ (จากอันดับที่ 64 เป็นอันดับที่ 62 และมีคะแนน 60.1 จาก 100 คะแนน) ในขณะที่ความโปร่งใสของงบประมาณ (Budget Transparency) มีอันดับดีขึ้น 25 อันดับ สำหรับด้านอื่นที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ภาระกฎระเบียบของภาครัฐและประสิทธิภาพของบริการรถไฟ 
                             2.3 ด้านที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (Innovation capability) ซึ่งเป็นด้านที่ไทยอยู่ห่างจากบรรทัดฐานโลก (Frontier) มากที่สุด โดยได้คะแนน 43.9 จาก 100 คะแนน ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในด้านนี้ควบคู่ไปกับปรับปรุงปัจจัยสนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดถ่ายทอดเทคโนโลยี (spillovers) ระหว่างบริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งความร่วมมือระหว่างบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกับบริษัทอื่น ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการแสวงหาการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้เกิด Startup Unicorn ของเอเชียสัญชาติไทย ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้นั้น จะต้องอาศัยการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะยาว เนื่องจากตัวชี้วัดในด้านดังกล่าวในปี้นี้มีคะแนนเพียง 33.6 จาก 100 คะแนน ขณะที่ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย มีคะแนน 52.1 จาก 100 คะแนน ดังนั้น การพัฒนาจำเป็นต้องมีแนวทางที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยให้เด่นชัดและยั่งยืนขึ้น 
                             2.4 ด้านอื่น ๆ ที่ควรเฝ้าระวังและต้องเร่งปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ด้านทุนทางสังคม (Social capital) ซึ่ง WEF ได้ประเมินจากรากฐานความร่วมมือกันทางสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งด้านการศึกษา ที่ต้องปรับปรุงด้านปีการศึกษาเฉลี่ยและทักษะแรงงานที่จบการศึกษา นอกจากนี้ การแข่งขันในภาคบริการก็ยังต้องเร่งปรับปรุงเพื่อให้มีความก้าวหน้าที่ชัดมากขึ้นเช่นกัน 
3.ข้อสังเกตจากข้อมูลเบื้องต้นของรายงานผลการจัดอันดับฯ โดย WEF
                             3.1 การจัดอันดับของ WEF ในปีปัจจุบันได้เพิ่มตัวชี้วัดที่สะท้อนความน่าเชื่อถือของภาครัฐในด้านเสถียรภาพของนโยบาย ความสามารถในการปรับตัว และความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐมากถึง 7 ตัวชี้วัด (ตัวชี้วัดที่ 1.20 – 1.26) ซึ่งประเทศไทยมีคะแนนและอันดับอยู่ในระดับปานกลาง กอปรกับการที่ยังไม่เห็นพัฒนาการในเชิงบวกที่ชัดเจนของตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม (Pillar) เดียวกัน ส่งผลให้ด้านกรอบบริหารเชิงสถาบัน (Institution) ของประเทศไทยตกลง 7 อันดับ จากอันดับที่ 60 เป็น 67  
                             3.2 แม้ในด้านคะแนนจะเห็นพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน แต่อันดับที่ลดลงสะท้อนว่าการพัฒนาของประเทศไทยอาจยังไม่เร็วพอที่จะก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งรัดการแก้ปัญหาให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เป็นจุดอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมายาวนานและการแก้ปัญหาต้องใช้เวลาในการดำเนินการหรือปฏิรูป โดยต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในการมีคะแนนเพิ่มและอันดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับในระยะต่อไปจะต้องมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการดำเนินการของภาครัฐ เช่น 
                                      1) เร่งพัฒนาระบบการศึกษาให้เข้าถึงง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนปีการศึกษาของคนไทย รวมถึงเร่งพัฒนาด้านคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาที่จบมามีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น   
                                      2) กระตุ้นให้หน่วยงานรับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นจุดอ่อน เร่งดำเนินแผนงาน/โครงการ ควบคู่กับการจัดทำข้อมูลรายงานความก้าวหน้าให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น ด้านปัญหาความเสี่ยงน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ที่อันดับต่ำมาก และในปีนี้อันดับลดลงอีก 2 อันดับ  
                                      3) เฝ้าระวังการครอบงำตลาด ภาษีนำเข้า – ส่งออกที่มีอัตราสูงและซับซ้อน รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่มีผลกระทบสูงต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มตัวชี้วัดที่ยังเป็นจุดด้อยของประเทศไทย
4.ข้อพิจารณาเพื่อสั่งการ
                             4.1 ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มที่อันดับดีอยู่แล้วให้สามารถรักษาอันดับไว้ให้ได้ต่อเนื่อง และในกลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขันยังต่ำและ/หรือมีแนวโน้มแย่ลง เพื่อให้การดำเนินนโยบาย/แผนงาน/โครงการภาครัฐที่ส่งผลต่อกลุ่มตัวชี้วัดเหล่านี้มีประสิทธิผลชัดเจนมากขึ้น โดยให้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินนโยบาย/แผนงาน/โครงการสำคัญของรัฐบาลเป็นระยะ ๆ
                             4.2 ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพและดิจิทัล ให้ดำเนินไปได้ตามเป้าหมายและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในเขตพัฒนาพิเศษในพื้นที่ และระบบโลจิสติกส์ด้านการขนส่งในทุกรูปแบบ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านทักษะกำลังคน และระบบสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 
                             4.3 ให้หน่วยงานภาครัฐเร่งพัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัยควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องโดยใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจที่ถูกต้องทันต่อเหตุการณ์และความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  
5.แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
                             5.1 สศช. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงาน/โครงการเพื่อการพัฒนาอันดับความสามารถในการแข่งขัน 
                             5.2 สศช. ได้ริเริ่มให้มีการร่วมมือกับ WEF เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทย (Accelerator Model) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด  
                             5.3 สศช. ได้กำหนดให้มีการจัดประชุมหน่วยงานเจ้าภาพตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในกลางเดือนพฤศจิกายนเพื่อรวบรวมและกำกับติดตาม แผนงาน/โครงการที่จะช่วยพัฒนาอันดับตัวชี้วัด และรายงานผลการดำเนินงานเพื่อทราบตามขั้นตอนต่อไป  

10. เรื่อง สรุปรายงานผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business  2020
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปรายงานผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business  2020   ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ

  1. ผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business 2020  ธนาคารโลกได้ประกาศผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจ Doing Business 2020 โดยประเทศไทยอยู่ในอับดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วไป  สูงขึ้น 6 อันดับ  มีคะแนน (Ease of Doing Business Score)  เท่ากับ 80.10 คะแนน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมีด้านที่ติดอันดับ TOP 10 ของโลก  2 ด้าน ได้แก่ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย  อยู่ในอันดับที่ 3 และด้านการขอใช้ไฟฟ้า อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก มีการปฏิรูปการบริการภาครัฐที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้นมี 1 ด้าน คือ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง มีการแก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาต  และการควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2525  เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร  จากเดิม 8 ครั้ง เหลือ 3 ครั้ง  คือ (1) เมื่อเริ่มก่อสร้าง (2) เมื่อทำการก่อสร้าง และ (3) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ  และลดระยะเวลาขออนุญาตจากเดิม  118 วัน  เหลือ 113 วัน  ผลการจัดอันดับและคะแนนที่ดีขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46  โดยมีการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น  นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น  ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริการภาครัฐสะดวกขึ้น

                    2. นอกจากนี้  ธนาคารโลกได้แจ้งว่าตัวชี้วัดด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะอยู่ในการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business 2021)
                    3. เพื่อให้การปรับปรุงงานส่งผลต่อการขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการผ่านระบบดิจิทัลให้มีความสะดวกเข้าถึงง่าย  และสื่อสารให้ผู้รับบริการมาใช้บริการมากยิ่งขึ้น  ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. จะได้ดำเนินการรวบรวมแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการดำเนินการตามข้อเสนอของธนาคารโลก รวมทั้งจะจัดการประชุมรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) โดยมีนายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยเร็วต่อไป
                    4. คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 รับทราบรายงานผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business 2020)  และให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
                    ทั้งนี้  ธนาคารโลกได้จัดทำรายงาน Doing Business  ซึ่งเป็นรายงานประจำปีที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2546) เพื่อเสนอผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานของรัฐ ทั้งขั้นตอน  ระยะเวลา  ค่าใช้จ่าย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจว่าเอื้อต่อผู้ประกอบธุรกิจเพียงใด   โดยมีตัวชี้วัดในการศึกษา 10 ด้าน  ได้แก่  ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ  ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง  ด้านการขอใช้ไฟฟ้า   ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน  ด้านการได้รับสินเชื่อ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน ด้านการชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย

11. เรื่อง มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ตามที่สำนักงบประมาณเสนอดังนี้
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    ความเป็นมา
                    ด้วยประเทศไทยประสบสถานการณ์ภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ในพื้นที่หลายจังหวัด ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ ความเป็นอยู่ และมีผลเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหน่วยรับงบประมาณ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เยียวยา บรรเทาความเดือดร้อน และฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพปกติอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงเห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการโดยใช้กลไกของการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยรับงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน
                    ข้อเสนอ
                    เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2562 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 141 บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน ประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 บัญญัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อนของหน่วยรับงบประมาณ สำหรับการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรพิจารณากำหนดมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ดังนี้
                    1. ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงซ่อมแซม ฟื้นฟูสถานที่ของส่วนราชการ หรือสิ่งก่อสร้างอันเป็นสาธารณประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งให้พิจารณาใช้แรงงานจากประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย
                    2. ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณารายการที่สามารถชะลอการดำเนินงานได้ภายใต้แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว หรือกรณีที่มีเงินเหลือจ่ายจากการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายงบประมาณ หรือจากการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว โดยให้หน่วยรับงบประมาณโอนหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรเพื่อนำไปช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ หรือปรับปรุงซ่อมแซมสถานที่ราชการหรือสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุของภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ โดยให้จัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วน กำหนดเป้าหมายและสถานที่ดำเนินการให้ชัดเจน และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
                    กรณีที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถโอนหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรภายใต้แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อนได้ ให้หน่วยรับงบประมาณขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 และหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 ต่อไป
                    3. งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ได้รับจัดสรรตามมาตรการนี้ ให้ถือเป็นงบประมาณที่ต้องนำไปหักออกจากงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ขอตั้งงบประมาณและได้รับจัดสรรตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในรายการเดียวกันหรือมีวัตถุประสงค์เดียวกัน เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทาง ค่าซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาผลกระทบหรือป้องกันอุทกภัย เป็นต้น และเมื่อหน่วยรับงบประมาณได้รับอนุมัติจัดสรรและนำไปใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันแล้ว ให้จัดทำบันทึกการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันและการเบิกจ่ายไว้ เพื่อนำไปหักออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกาศใช้บังคับแล้ว
                    4. กรณีที่หน่วยรับงบประมาณต้องมีการเยียวยา ฟื้นฟู ผู้ประสบอุทกภัยนอกเหนือจากที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามมาตรการนี้ และหน่วยรับงบประมาณมิได้ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รองรับไว้ ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามขั้นตอนต่อไป
                    ทั้งนี้ เห็นสมควรมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำกับให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยให้หน่วยรับงบประมาณเร่งดำเนินการใช้จ่ายและก่อหนี้ให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 

ต่างประเทศ

12.  เรื่อง  การให้สัตยาบันพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามแล้ว และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำและมอบสัตยาบันสารหรือสารของพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ให้แก่เลขาธิการอาเซียน เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบพิธีสารและตารางข้อผู้พันดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
                             1. ร่างพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับพิธีสารฯ ฉบับที่ 7 ที่ประเทศไทยได้ลงนามไปแล้ว กล่าวคือเป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลกและประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันฯ แก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) รวมถึงการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) ที่ระบุให้ประเทศสมาชิกตั้งแต่สองประเทศหรือมากกว่านั้นอาจดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาการธนาคารของประเทศตน โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอาจสรุปผลการเจรจา ณ เวลาใดก็ได้
                             2. ตารางข้อผูกพันฯ ฉบับที่ 8 ของไทยที่แนบท้ายร่างพิธีสารฯ เป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯ ดังนี้
          2.1 แก้ไขตารางข้อผูกพันฯ ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาหลักทรัพย์และสาขาย่อยบริการจัดการลงทุน (Asset Management) เพื่อยกระดับข้อผูกพันให้เทียบเท่ากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ จะอนุญาตให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุน (Asset Management Company) ได้ถึงร้อยละ 100 ของทุนที่ชำระแล้วโดยยกเลิกเงื่อนไขเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนที่ชำระแล้ว ในระยะ 5 ปีแรก หลักจากที่ได้รับใบอนุญาตซึ่งเท่ากับกฎหมายปัจจุบัน

                              2.2 ได้ระบุให้มีการเจรจาทวิภาคีเพื่อตั้งตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งข้อผูกพันดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซียเข้าสู่ตลาดระหว่างกันได้ บนหลักการต่างตอบแทน และให้มีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น  

13.  เรื่อง  ขออนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
                             คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง [Mekong – Lancang Cooperation (MLC) Special Fund] และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็น              ผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – 
ล้านช้าง ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ
                             อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
(จะมีการลงนามระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยภายในเดือนธันวาคม 2562)
                             สาระสำคัญของเรื่อง
                     ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวระบุว่า จีนได้อนุมัติโครงการและสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) จำนวน                 2 โครงการ จำนวนเงิน 4,160,000 หยวน (ประมาณ 17,721,600 บาท) ได้แก่ (1) โครงการคัดกรองอาหารที่ไม่ปลอดภัยเบื้องต้น โดยอาศัยองค์ความรู้เรื่องการแยกแยะด้วยความเสี่ยง (Early detection of Unsafe Food by risk) จำนวน 310,000 หยวน (ประมาณ 1,320,000 บาท) และ (2) โครงการนำร่องการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับในประเทศลุ่มน้ำโขง (Mekong Liver Fluke Control Initiative) จำนวน 3,850,000 หยวน (ประมาณ 16,401,000 บาท) โดยฝ่ายจีนจะจัดสรรงบประมาณให้ฝ่ายไทยภายใน 20 วันทำการหลังจากที่มีการลงนาม
          ทั้งนี้ กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง [Mekong – Lancang Cooperation (MLC) Special Fund] จัดตั้งขึ้นในคราวการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 1 โดยผู้นำจีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) และประเทศไทย จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการเร่งด่วนซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของไทย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ จากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างเช่นเดียวกัน

14.  เรื่อง การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เรื่อง การจัดทำร่างบันทึกความตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหาร
                    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ในส่วนของผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหาร จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย” ปรับเป็น “รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็น               ผู้ลงนามฝ่ายไทย” ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
                   ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดพิธีลงนามร่างบันทึกข้อตกลงฯ ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting – Plus: ADMM – Plus) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้              รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุม ADMM – Plus ครั้งที่ 6 รวมทั้งกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการร่วมลงนามในร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

15.  เรื่อง  ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 19
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์อาบูดาบี และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือ  ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย             ครั้งที่ 19 เป็นผู้ร่วมให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์อาบูดาบี เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ที่จะร่วมมือกันในการเสริมสร้างภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียที่มีสันติภาพ ความมั่นคงและมั่งคั่ง ผ่านการให้ความร่วมมือกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการผลักดันให้มีความคืบหน้าในประเด็นสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว อาทิ ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล การอำนวยความสะดวกในด้านการค้าการลงทุน การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การสร้างเสริมพลังสตรีในภาคเศรษฐกิจ เศรษฐกิจภาคทะเล รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานและการปฏิรูปสำนักเลขาธิการของสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association- IORA) ทั้งนี้ เพื่อให้ IORA สามารถดำเนินการตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียได้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ กระแสการต่อต้านระบอบพหุภาคีในเวทีระหว่างประเทศ สถานการณ์ความไม่สงบในอ่าวเปอร์เซียและทะเลแดง การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธาน IORA จากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปสำนักเลขาธิการIORA เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น



16. เรื่อง  ขอความเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ในข้อ 1. และข้อ 2.) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารในข้อ 1. และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมลงนามในเอกสารข้อ 2. และเมื่อลงนามแล้วให้ส่งเอกสารดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนแสดงเจตนาการมีผลผูกพันของเอกสารต่อไป พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมอบสัตยาบันสารของเอกสารข้อ 2. ให้แก่เลขาธิการอาเซียนเพื่อรับทราบการให้สัตยาบันเมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบเอกสารดังกล่าวแล้วตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
                             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Ministers Meeting: ATM) ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – จีน ครั้งที่ 18 การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 17 และการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองเอกสาร 4 ฉบับ และลงนามเอกสาร 2 ฉบับ เป็นผลลัพธ์ของการประชุมและให้การประชุมมีผลเป็นรูปธรรม ดังนี้
                             1. เอกสารที่จะมีการรับรอง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
                                      1.1 ร่างกรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านกรอบทางกฎหมายและความรับผิดชอบสำหรับการบริหารจัดการและการควบคุมการขนส่งแบบครบวงจร (end to end) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในภาพรวมของบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
                                      1.2 ร่างปฏิญญาว่าด้วยการรับรองกรอบการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Declaration on the Adoption of the Implementation Framework of the ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของที่ประชุม ATM ในการผลักดันและส่งเสริมการดำเนินการด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศสมาชิกอาเซียน
                                      1.3 ร่างแผนยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ASEAN Green Ship Strategy) เป็นเอกสารที่เสนอโดยญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนเรือเก่าของประเทศสมาชิกอาเซียน (อายุ 30 ปีขึ้นไป) ที่เดินเรือในภูมิภาคอาเซียนและไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของอนุสัญญาองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในภูมิภาคซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
                                      1.4 ร่างพิธีสาร 1 ว่าด้วยเครื่องช่วยฝึกบิน (Protocol 1 on Flight Simulation Training Devices) เป็นพิธีสารแนบท้ายข้อตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรฐานกระบวนการออกใบรับรองเครื่องช่วยฝึกบินที่ออกโดยประเทศสมาชิกอาเซียน อันเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถใช้เครื่องฝึกบินที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์ภายใต้กรอบมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น

                             2. เอกสารที่จะมีการลงนาม จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
                                       2.1 ร่างพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11 ของบริการขนส่งทางอากาศภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Eleventh Package of Commitments on Air Transport Services under the ASEAN Framework Agreement on Services) มีสาระสำคัญเป็นการยื่นเสนอปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดบริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน (Aircraft repair and maintenance services) โดยไม่จำกัดสัดส่วนผู้ถือหุ้นของประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้หลักเกณฑ์และต้องมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2562 ซึ่งการเปิดตลาดการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน จะยกเว้นการบำรุงรักษาที่ลานจอดอากาศยาน (Line maintenance)
                                       2.2 ร่างพิธีสาร 3 ว่าด้วยการขยายสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ระหว่างภาคีคู่สัญญา (Protocol 3 on the Expansion of Fifth Freedom Traffic Rights between Contracting Parties) เป็นพิธีสารแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน – จีน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สายการบินของประเทศสมาชิกอาเซียนและสายการบินของประเทศจีนสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 ในจุดที่ฝ่ายอาเซียนระบุไว้จำนวน 8 จุด และจุดที่จีนระบุไว้จำนวน 8 จุด ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนความจุความถี่และแบบ                อากาศยาน สำหรับประเทศไทยได้ระบุ 1 จุด คือ ระยอง ทั้งนี้ ร่างพิธีสารนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 2 ประเทศให้สัตยาบันและจะมีผลเฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบันเท่านั้น 

 แต่งตั้ง

17. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอการแต่งตั้ง นายณรงค์ฤทธิ์   วงศ์สุวรรณ เป็นผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 190,000 บาท และให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายบรรสาน บุนนาค ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่  6 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง พันตำรวจโท อนุรักษ์ จิรจิตร ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป 

20. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยแทนตำแหน่งที่ลาออก ดังต่อไปนี้ 
                   1. นายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธานกรรมการ 
                   2. นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   3. นางพิมพ์ใจ ลี้อิสระนุกูล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป 

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด

เหล่า K-pop บุกชาร์ตเพลง Circle Chart ประจำรายเดือน-รายสัปดาห์

คนฮอตของเดือนเมษายนสุดร้อนแรงนี้! จะมาเปิดเผยอันดับชาร์ตรายเดือนและรายสัปดาห์ล่าสุด! ของชาร์ต Circle Chart สุดโหดเกาหลีใต้

“วอนฮี ILLIT” พรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มสุดฮิต ที่พร้อมมาทำให้ซัมเมอร์จี๊ดจ๊าด!

เอาแล้วไงสดใสจนได้งานเข้ามารัว ๆ สำหรับสาวสวย “วอนฮี ILLIT” ที่ได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เครื่องดื่มสุดฮิต “Pocari Sweat”

กัมพูชา เคลมอีก! ลาบูบู้ LABUBU แท้จริงมาจากตำนานของพี่เขา

ชาวเน็ตกัมพูชา ไม่ตกกระแส! แห่ตามเคลม “ลาบูบู้ LABUBU” มาจากรูปแกะสลักปีศาจ “หน้ากาล” วัฒนธรรมของกัมพูชา ไม่เชื่อ! เจอได้ตามทางเข้าวัด

สคบ.เตือนภัย ‘พัดลมคล้องคอ’ อันตราย ใช้ไปนาน ๆ เสี่ยงโรคมะเร็ง

หยุดใช้ดีที่สุด! สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตือน ‘พัดลมคล้องคอ’ มีตะกั่วเข้มข้นเป็นอันตรายต่อผิวหนังเสี่ยงเป็นมะเร็งสูง

ครั้งนี้ไม่ยอม! เจนนี่ รัชนก ถูกคนใกล้ตัวในคราบโจร ขโมยเงินครึ่งล้าน

ไม่ยอม! เจนนี่ รัชนก ถูกคนใกล้ตัวในคราบโจร ขโมยเงินในบ้านจำนวนครึ่งล้าน ลั่น ถ้ายังไม่คืนรู้เรื่องแน่

ป่วยนับสิบ! คนสุพรรณ ติดเชื้อไวรัสโรต้า หลังร่วมปาร์ตี้โฟมสงกรานต์

ปาร์ตี้โฟมสงกรานต์ เป็นเหตุ! ทำคนสุพรรณ ติดเชื้อไวรัสโรต้า หามตัวส่ง รพ. กว่า 50 ชีวิต พบมีอาการ มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสีย
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า