The King Can Do No Wrong — ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์บทความเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ เรื่อง The King Can Do No Wrong หลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับ ปัญหาที่เกิดจากพลเอกประยุทธ์ โดยระบุว่า

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาบัญญัติเรื่องระบอบการปกครองของประเทศไว้ที่มาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่ดูเหมือนว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อย – โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบัน – ที่อาจจะไม่เข้าใจหลัก The King Can Do No Wrong ของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือ Constitutional Monarchy และไปสับสนปนเปกับ ‘ระบอบราชาธิปไตย’ จึงทำให้เกิดปัญหาในขณะนี้

1. #ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เริ่มต้นในประเทศไทยเมื่อใด? และ #ทำไมวันที่10ธันวาคมจึงเป็นวันรัฐธรรมนูญ?

ถ้าถามว่าทำไมวันที่ 10 ธันวาคม จึงเป็น ‘วันรัฐธรรมนูญ’ แทบทุกคนจะตอบว่า เพราะเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยคือ ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้ 3 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งมีคำปรารภและมาตรา 1 ดังต่อไปนี้

“โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินเพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยมาตราต่อไปนี้

มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย”

โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 2475 ฉบับนี้โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในทางนิตินัยจึงมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจสูงสุดอันเป็นของพระองค์มาแต่เดิมให้กับราษฎร และสถาบันพระมหากษัตริย์ยินยอมที่จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจสูงสุดให้กับราษฎรทั้งหลาย ประเทศไทยจากจากระบอบ ‘ราชาธิปไตย’ ที่อำนาจ ‘อธิปไตย’ เป็นของ ‘พระราชา’ ก็ได้กลายเป็นระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ที่อำนาจ ‘อธิปไตย’ เป็นของ ‘ประชาชน’ โดยเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ มานับแต่บัดนั้น

ความจริงแล้วนายปรีดี พนมยงค์ มิได้ตั้งใจเขียนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ให้ใช้เป็นการ ‘ชั่วคราว’ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ เข้าไป ด้วยอาจทรงเห็นว่าระยะเวลาในการจัดทำสั้นนัก และขอให้นำไปปรับปรุงแล้วจึงนำมาทูลเกล้าใหม่ นายปรีดีจึงนำไปปรับปรุงแก้ไข 5 เดือนต่อมาก็นำขึ้นทูลเกล้า เมื่อทรงโปรดเกล้าก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และด้วยความที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว อีกทั้งมีการบัญญัติศัพท์คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ แล้ว จึงมีการกำหนดให้วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีที่มาจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ให้เป็น ‘วันรัฐธรรมนูญ’

แม้ว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 จะถูกเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ ลงไป แต่มีความสำคัญเป็นที่สุด เพราะเป็นรอยต่อของระบอบ ‘ราชาธิปไตย’ กับระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ จากการลงพระปรมาภิไธยโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการแบบราชาธิปไตย หลังจากนั้นเป็นต้นมาเมื่ออำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน รัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมถึงตัวบทกฎหมาย และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินทั้งหมดต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง เพราะอำนาจสูงสุดของประเทศได้กลายเป็นของปวงชนไปแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงโปรดเกล้าในเรื่องราชการแผ่นดินได้ ต่อเมื่อตัวแทนปวงชนได้ทูลเกล้าขึ้นไปเท่านั้น และทำให้ทรงอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง นี่เองคือหลัก The King Can Do No Wrong คือทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง

2. หลัก The King Can Do No Wrong หมายความว่า #พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำผิด หรือ #พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรก็ไม่ผิด?

“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” นั้นบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 3 ประโยคแรก แต่ประโยคที่สองของมาตรา 3 ซึ่งเขียนว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” อาจจะทำให้เกิดความสับสน และไม่เข้าใจว่า ประชาชนเป็นแค่เจ้าของ แต่ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแต่ไม่ใช่เจ้าของ หมายความว่าอย่างไร?

หากจะอธิบายอย่างย่นย่อ การใช้อำนาจอธิปไตย ‘ทางรัฐสภา’ ของพระมหากษัตริย์คือ กฎหมายที่ออกมาจากรัฐสภา มีชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติ’ หรือ ‘บัญญัติ’ ของ ‘พระราชา’ ต้องให้พระราชาทรงลงพระปรมาภิไธย จึงจะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ การใช้อำนาจอธิปไตย ‘ทางคณะรัฐมนตรี’ คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จึงจะเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้ และการใช้อำนาจอธิปไตย ‘ทางศาล’ คือ ผู้พิพากษาและตุลาการมาจากการโปรดเกล้าแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ จึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ได้

แต่คำถามคือ หากกฎหมายมาจากพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีมาจากพระมหากษัตริย์ และศาลก็มาจากพระมหากษัตริย์ แล้ว ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ จะแตกต่างจาก ‘ระบอบราชาธิปไตย’ อย่างไร?

คำตอบคือ สิ่งที่แตกต่างกันโดยพื้นฐานที่สุดคือ ร่างพระราชบัญญัติมาจากการพิจารณาของรัฐสภา (รัฐธรรมนูญ 2560 ม. 81) นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฏร (ม. 159) โดยตามบทเฉพาะกาลมาจากที่ประชุมของรัฐสภา คือให้วุฒิสภาชุดแรกเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร (ม. 272) ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ม. 196) ตุลาการศาลปกครองมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ม. 198) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา (ม. 204) องค์กรอิสระก็มาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา (ม. 217 วรรคสอง)

ตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงมิได้ทรงตราพระราชบัญญัติ หรือเลือกนายกรัฐมนตรีเอง หรือเลือกสมาชิกวุฒิสภา ผู้พิพากษา ตุลาการ และองค์กรอิสระหากทรงโปรดเกล้าตามที่ได้มีการทูลเกล้าขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงไม่ทรงต้องรับผิดชอบเมื่อกฎหมายมีปัญหา หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองไม่ดี หรือถูกประชาชนประท้วง หรือผู้พิพากษาหรือตุลาการตัดสินคดีแล้วผู้คนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม หรือองค์กรอิสระทำหน้าที่แล้วคนไม่เห็นด้วย

นี่คือหลัก The King Can Do No Wrong หรือพระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำความผิด ซึ่งหลักการพื้นฐานในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ความหมายคือถ้าเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงโปรดเกล้าต่อเมื่อมีการทูลเกล้าเท่านั้น ดังนั้นคนรับผิดชอบคือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ใช้อำนาจในเรื่องนั้น และคนที่ทูลเกล้า ไม่ใช่พระมหากษัตริย์

ที่บางคนกล่าวว่า The King Can Do No Wrong หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำอะไรก็ไม่ผิด เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะนั่นคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด มีทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทำให้ทรงทำอะไรก็ไม่ผิด แม้จะทรงทำผิดก็ไม่ผิด ซึ่งแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทรงโปรดเกล้าตามที่มีผู้ทูลเกล้าขึ้นไป พระมหากษัตริย์จึงไม่อาจทรงกระทำผิด เพราะ #คนรับผิดชอบคือผู้มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและผู้ทูลเกล้า

รัฐธรรมนูญมักจะไม่เขียนว่าใครเป็นผู้ทูลเกล้า แต่จะเขียนว่าใครเป็น ‘ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ’ ซึ่งผู้นั้นเองจะเป็นผู้ทูลเกล้า เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าลงมา ผู้นั้นคือผู้ที่ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้วผู้ทูลเกล้าคือนายกรัฐมนตรี เว้นแต่ในเรื่องใดรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นคนอื่น ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 182 ซึ่งกำหนดไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อนหน้านี้คือ “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ..”

ดังนั้น แม้พลเอกประยุทธ์ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งจะถูกประท้วง แต่คนรับผิดชอบคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่เลือกพลเอกประยุทธ์ เราก็ต้องไปโทษ ส.ส. และ ส.ว. โดย ส.ว. ก็ต้องโทษคนเลือก ส.ว. คือพลเอกประยุทธ์ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหลาย มาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา และก่อนหน้านี้มาจาก สนช. ซึ่ง สนช.ก็มาจากพลเอกประยุทธ์ หากเราไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่พอใจการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือ ปปช. เราไม่อาจไปโทษพระมหากษัตริย์ผู้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้ง แต่ต้องโทษพลเอกประยุทธ์ ที่เป็นคนเลือก สนช. และ ส.ว.

ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พลเอกประยุทธ์ต้องออกหน้า ไม่ใช่อยู่ข้างหลัง และทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกันดังที่เกิดขึ้นในขณะนี้

3. #เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

นายกรัฐมนตรีก่อนหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในปี 2549 ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน ล้วนแต่เคยถูกประชาชนชุมนุมต่อต้านมาทั้งสิ้น แต่ไม่เคยมีคราวใดที่เรื่องราวจะลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ดังเช่นในครั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า #สาเหตุหลักมาจากการสืบทอดอำนาจของคสช. และความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลัก The King Can Do No Wrong ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์

ในตอนที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์มีสถานะเป็น ‘คนกลาง’ เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่สถานะคนกลางก็หมดไปเมื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังจากเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากตนเองเลือก ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร และมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มาจาก สนช. ซึ่งก็มาจากพลเอกประยุทธ์ ว่าง่ายๆ องค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการแต่งตั้งหลังจากการยึดอำนาจในปี 2557 ที่มีอำนาจหน้าที่ในปัจจุบัน มีที่มาที่ยึดโยงกับพลเอกประยุทธ์ทั้งสิ้น

หากพลเอกประยุทธ์ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง หรือ ส.ว.ที่ คสช.เลือก ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่มีการประท้วงแบบนี้ เพราะพลเอกประยุทธ์จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าจะมีการประท้วงก็จะเป็นการประท้วงนายกรัฐมนตรีคนอื่น ที่มาจากการเลือกตั้ง และจะไม่มีการเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้

การเริ่มต้นเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และเกิดความเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผู้เขียนเห็นว่ามาจากเหตุที่สำคัญที่สุดคือการยุบพรรคไทยรักษาชาติ การยุบพรรคอนาคตใหม่ คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายกรัฐมนตรีอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ และพฤติกรรมของพลเอกประยุทธ์เอง

#การยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นหลังจากที่มี ‘ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ’ แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้เกิดการเริ่มต้นการเชื่อมโยง และ #จุดที่เป็นชนวนของการประท้วง ซึ่งเริ่มจากการประท้วงพลเอกประยุทธ์ก่อน #คือการยุบพรรคอนาคตใหม่

โดยเหตุที่ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งมาถึง 8 ปี การเลือกตั้งในปี 2562 จึงมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมากกว่าปกติถึงสองเท่า โดยมีตั้งแต่อายุ 18 ปีไปจนถึง 26 ปีซึ่งส่วนใหญ่เลือกพรรคอนาคตใหม่ และเนื่องจากพรรคเพื่อไทยเว้นเขตเลือกตั้งไว้ 100 เขตให้พรรคไทยรักษาชาติ พอพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ใน 100 เขตนั้น ผู้เลือกตั้งที่เคยจะเลือกพรรคไทยรักษาชาติ หรือจะเลือกพรรคเพื่อไทย จึงเปลี่ยนมาเลือกพรรคอนาคตใหม่  และทำให้พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งถึง 80 คน โดยเป็น ส.ส.ใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย

พอพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วก็ด้วยเหตุผลที่เห็นกันว่าฟังไม่ขึ้น และไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดต้องยุบพรรค ทำให้ผู้เลือกพรรคนี้ออกมาชุมนุม และเนื่องจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่พรรคไม่ให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังกำลังพล ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ฯ ยิ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยอื่นของศาลรัฐธรรมนูญอีกที่ทำให้เกิดความเข้าใจเช่นนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ #คดีพลเอกประยุทธ์อ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องอ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่อง ‘ระหว่างพระมหากษัตริย์กับนายกรัฐมนตรี’ ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจในทางที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยผ่านพลเอกประยุทธ์มากขึ้นไปอีก

และเมื่อพลเอกประยุทธ์ มักจะอ้างถึงพระมหากษัตริย์ในการทำอะไรหรือไม่ทำอะไรอยู่บ่อยครั้ง จากต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ เรื่องก็เลยลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลายเป็นประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในขณะนี้

4. #หนทางแก้ไขยังมีอยู่หรือไม่?

(1) การเมืองมีผิดมีถูก การตัดสินใจทางการเมืองมีทั้งประชาชนชอบและไม่ชอบ การแก้ปัญหาคือต้องยึดมั่นในหลัก The King Can Do No Wrong ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีหลักการคือ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง ในทางปฏิบัติคือ พลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องออกหน้ามารับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และต้องดำเนินการตามมาตรา 182 อย่างเคร่งครัดคือ “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”

(2) สาเหตุของการประท้วงมาจากการสืบทอดอำนาจของ คสช. พลเอกประยุทธ์ต้องหยุดการสืบทอดอำนาจ และแสดงให้เห็นว่า จะไม่สืบทอดอำนาจอีกต่อไป ด้วยการยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป แม้ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จะตกไป แต่ควรที่จะได้มีการเสนอใหม่อีกครั้งโดยเร็ว ซึ่งจะแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุไปได้กว่าครึ่ง

(3) รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีคนต่อต้านมากที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และทั้งนี้เนื่องจากรัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มี สสร. ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน ดังนั้น ในวาระแปรญัตติของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงต้องรับฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่มาของ สสร.

(4) ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความเห็นต่างและนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชน การนำเสนอเรื่องนี้จึงต้องทำด้วยวิธีการที่เหมาะสม และทุกฝ่ายต้องเคารพความคิดเห็นของกันและกัน ไม่สร้างความเกลียดชังหรือแตกแยกในสังคมให้มากไปกว่าเดิม

นายกรัฐมนตรีที่ถูกประท้วงก่อนหน้านี้ พอผู้ประท้วงเห็นว่าประท้วงไม่ได้ผล ก็มักจะมีการถวายฎีกาให้พระมหากษัตริย์ทรงมาก้าวก่ายทางรเมือง เช่น การถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานในช่วงเวลาที่มีการประท้วงทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557

แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกประท้วงแล้ว คนกลับประท้วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ #เราคงพอจะสรุปได้แล้วว่าเราควรจะแก้ปัญหาที่ตรงจุดใด และเราก็ควรแก้ไปที่จุดนั้น

สาเหตุของปัญหาเกิดจากพลเอกประยุทธ์ ทั้งในเรื่องการเมืองที่สืบทอดอำนาจ และเรื่องการไม่ยึดมั่นในหลัก The King Can Do No Wrong หากพลเอกประยุทธ์ยังไม่แก้ไข แล้วยิ่งอยู่นานไปยิ่งเป็นปัญหา เราก็คงต้องไปแก้ที่พลเอกประยุทธ์.

ปริญญา เชื่อ หากบิ๊กตู่ไม่สืบทอดอำนาจ จะไม่เกิดการประท้วงแบบนี้

หมอเหรียญทอง แนะรองอธิการบดีมธ.ลาออกปล่อยชุมนุม ธรรมศาสตร์จะไม่ทน

The Space : Someone ดร. ปริญญา ความศักดิ์สิทธิ์กฏหมายไทย หายไปไหน?

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด

หญิงชาวเมียนมา สารภาพ ไม่ได้เจตนา แทงผัวดับคาห้องพัก ก่อนหลบหนี

ตำรวจคุมตัว สาวชาวเมียนมา แทงสามีดับคาห้องพัก ทำแผนรับสารภาพ ลั่น! ไม่ได้เจตนา ทะเลาะกันหนัก แย่งมีดแล้วหลุดมือ ไปทิ่มหน้าอกผัว

เปิดนาที! คนร้ายซุ่มยิงตำรวจ สภ.บันนังสตา บาดเจ็บหน้าร้านสะดวกซื้อ

ยังไม่รู้สาเหตุ!? หลังคนร้ายลอบยิงรถสายตรวจตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ขณะออกตรวจพื้นที่ ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย

ราคาทองผันผวนหนัก หลังอิสราเอลตอบโต้อิหร่าน เริ่มเปิดตลาด +550

ผันผวนหนัก! สมาคมค้าทองคำ ปรับราคาครั้ง 1 ราคา +550 ทองรูปพรรณ 42,500 บาท หลังสถานการณ์ยิงขีปนาวุธของอิสราเอล

อัปเดตอาการ ด.ต.ปิยนันท์ หลังผ่าตัดเลือดคั่งในสมองรอบ 2

ทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ แถลงความคืบหน้า อาการ ด.ต.ปิยนันท์ ล่าสุด! หลังผ่าตัดรอบ 2 อาการยังไม่คงที่ ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นักร้องสุดแซ่บ “ซูจิน” คอนเฟิร์มคัมแบ็คอัลบั้มใหม่เดือนพฤษภาคมนี้!

นักร้อง “ซูจิน” คอนเฟิร์มกลับมาปล่อยอัลบั้มใหม่เดือนพฤษภาคมนี้ หลังหายไปนาน 6 เดือน ทำเอาแฟนคลับต่างคาดหวังคัมแบ็คสุดแซ่บครั้งนี้สุดๆ

“เมษามหาโชค” เปิดดวง “ราศีพฤษภ” สาส์นจากไพ่พระพิฆเนศ

หมออาร์ต คเณชาพยากรณ์ เปิดไพ่รับสาส์นจากพระพิฆเนศ ทำนายดวง ราศีพฤษภ ประจำเดือนเมษายน 2567
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า