ก้าวไกล ร่วมซัก! EEC – รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน ปชช. เดือดร้อนสาหัส

รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน (9 กรกฎาคม 2563) ณ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน ได้พิจารณาผลกระทบจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีการเชิญหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพลังงาน, การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และตัวแทนชาวบ้านในชุมชนตลอดแนวทางรถไฟราชเทวี-พญาไท ลาดกระบัง สุวรรณภูมิ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ไปจนถึงอู่ตะเภา ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวร่วมซักถาม และชี้แจงถึงกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินโครงการ เนื่องจากขาดความชัดเจนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับจากการก่อสร้าง โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้ส่งตัวแทนคือ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาร่วมชี้แจงและตอบข้อซักถาม

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และหนึ่งในคณะทำงานติดตามผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามเรื่องผลกระทบจากการพัฒนาในโครงการ EEC มาโดยตลอด ขณะนี้กำลังมีการไล่รื้อหรือฟ้องขับไล่ตามแนวรถไฟฟ้าทั้งหมด ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานท้องถิ่นสามารถเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง โดยในส่วนของผังเมือง ประชาชนมีความกังวลใจอีกประการในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอาจไปขวางทางน้ำ ทำให้พื้นที่กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อย่างที่เกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรี หลายพื้นที่มีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนในการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ในการก่อสร้าง จะมีการป้องกันและบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร

*** “เบญจา – มานพ” จี้ผู้เกี่ยวข้องให้ความชัดเจน- ปชช. หวั่นถูกไล่รื้อที่

เบญจากล่าวอีกว่า ตนเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการพัฒนา แต่การพัฒนามักจะมีผู้ได้และเสียประโยชน์เสมอ ตนจึงอยากทราบว่าในส่วนผู้เสียประโยชน์ทางกระทรวงมหาดไทยมองเรื่องนี้อย่างไร ในการพัฒนาพื้นที่กับชุมชน หรือออกนโยบายที่พัฒนาร่วมกับชุมชนได้ แน่นอนว่าในกรณีชาวบ้านต้องสูญเสียอาชีพและการดำรงชัพแบบเดิม จะมีแนวทางหรือนโยบายเพื่อพัฒนาชุมชนร่วมไปกับประชาชนที่สูญเสียประโยชน์เหล่านี้ได้อย่างไร

ด้าน มานพ คีรีภูวดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมซักถาม โดยระบุว่าจากการที่ตนได้มีโอกาสไปในพื้นที่ร่วมกับกรรมาธิการ อยากให้ความเห็นว่าเรื่องนี้ว่า ถ้าไม่ตั้งหลักให้ดีกระแสความไม่เข้าใจและการปะทะจะเกิดขึ้น ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้คนพื้นที่เจ็บปวดน้อยที่สุด การชดเชยหากเกิดขึ้น แน่นอนว่าจะเป็นการชดเชยในเรื่องที่ดินและการขนย้ายเป็นหลัก แต่เรื่องของอาชีพและโอกาสในการทำมาหากินนั้นไม่เคยมีแนวทางการชดเชยที่ชัดเจนเกิดขึ้น ประชาชนที่คัดค้านโครงการพัฒนามีข้อกังวลในส่วนนี้เป็นหลัก ที่ผ่านมาภาครัฐมักปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม โจทย์จึงมีอยู่ว่า รัฐจะมีมาตรการอย่างไรให้กับประชาชนในพื้นที่อพยพตรงนี้ ให้กับคนที่ต้องสูญเสียอาชีพ ความเป็นตัวตน ชุมชน วัด ฯลฯ นอกจากนี้ ประชาชนตามแนวรถไฟ ที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเรียกว่าผู้บุกรุกเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน เมื่อเกิดการพัฒนาขึ้นมา จะมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไมให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปอีกอย่างไร

*** ตัวแทนชาวบ้านโวยผัง EEC เอื้อนายทุน – ทำเวทีประชาพิจารณ์แบบลักหลับ ปชช.

สรายุทธ์ สนรักษา หนึ่งในประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะในพื้นที่ของนายทุน พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ตอนนี้เปลี่ยนสภาพเป็นผัง EEC เรียบร้อย มีการใช้พื้นที่ขวางลำน้ำหลายกรณี ตนร้องเรียนไปแต่สุดท้ายไม่มีการรังวัดที่ดิน โดยให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่แล้ว และไม่มีการดำเนินการใดๆ อีก ในหลายกรณี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายๆ พื้นที่มีการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะขวางลำน้ำโดยถูกกฎหมาย ผ่านการออกกฎหมายยกที่ดินสาธารณะให้การนิคมอุตสาหกรรม ทำถนนบ้าง บ่อบำบัดน้ำเสียบ้าง สนามกอล์ฟบ้าง จึงเกิดการก่อสร้างขวางทางระบายน้ำและเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง

กรณีของการรับฟังความคิดเห็นนั้น ตนยืนยันได้ว่า ที่ผ่านมาการทำผังเมืองที่เกี่ยวกับ EEC และรถไฟความเร็วสูง ตนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแทบไม่มีโอกาสได้นำเสนอในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ของสำนักงาน EECเลย ประชาชนในบริเวณที่ถูกเปลี่ยนพื้นที่ผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงไม่มีใครถูกเชิญเข้าเวที หลายเวทีเป็นเวทีลักหลับ เอาแบบไปทำในการประชุมกำนันบ้าง การประชุมผู้ใหญ่บ้านบ้าง เวลาชาวบ้านจะเข้าไปแสดงความเห็นก็ปิดเวทีหนีบ้าง มีการเอาทหารไปกดดันล้อมที่ประชุมไม่ให้ชาวบ้านเข้าบ้าง นี่คือกระบวนการที่ผ่านมา

“ในเรื่องของข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองมีครบถ้วนและค่อนข้างเป็นข้อมูลที่ดี แต่ที่ผ่านมามักไม่ได้นำมาใช้พิจารณา ตนจึงอยากให้มีการนำข้อมูลวิชาการมาใช้ในการพิจารณา มากกว่าที่จะปล่อยให้นายทุนชี้นิ้วว่าอยากให้พื้นที่ใดเป็นสีม่วงอย่างที่เป็นในปัจจุบัน จนในที่สุดก็เกิดการก่อสร้างบุกรุกและขวางทางน้ำ” สรายุทธ์กล่าว

*** “นิพนธ์” แจงเตรียมลงพื้นที่ดูแก้ปัญหาท่วมซ้ำซาก-มท.พร้อมช่วยเต็มที่

นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบคำถามว่า ปัญหาการเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในส่วนนี้ ตนก็ได้รับทราบปัญหามา พรุ่งนี้จะลงไปดูปัญหาในส่วนนี้พอดี ตนเห็นด้วยว่ามีปัญหาและต้องดำเนินการอะไรสักอย่าง เรื่องนี้กรมที่ดินได้ให้นโยบายที่ดินไว้แล้ว ว่าการพัฒนาต้องไม่มีการบุกรุกที่ดินสาธารณะ ไม่ว่าจะโรงงานหรือเอกชนใดๆ จะสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำคูคลองหนองน้ำไม่ได้ ถ้ามีการบุกรุกก็จะมีการจับดำเนินคดีแน่นอน สิ่งสำคัญคือเวลาเราออกผังเมืองต้องศึกษาการสร้างทางระบายน้ำควบคู่ไปด้วย ซึ่งทุกโครงการมีมาตรการเหล่านี้อยู่ ต้องดำเนินไปตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นไปตาม EIA/EHIA ยืนยันว่าจะไม่มีการปล่อยปะละเลยให้มีการรุกล้ำแน่นอน

“โดยปกติโครงการทำนองนี้มักจะมีกฎหมายพิเศษขึ้นมารองรับ ขึ้นอยู่กับแนวคิดในการพัฒนาเมืองว่ามีแนวคิดแบบไหน จะบรรเทาผลกระทบจากการพัฒนาได้อย่างไร คนที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มจะทำอย่างไร ตรงนี้การพัฒนามักจะมีหลักเอาไว้อยู่แล้ว จึงเป็นที่มาว่าต้องมี EIA/EHIA บรรเทาเยียวยาอย่างไรให้เกิดผลกระทบขึ้นน้อยที่สุด แต่ในส่วนของ EEC มีแนวคิดอย่างไรตนไม่อาจก้าวล่วง แต่ถ้าในส่วนที่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ตนพร้อมดำเนินการอย่างเต็มที่” นิพนธ์กล่าว

*** จี้ถามการชดเชยประชาชนจาก รฟท. – รองผู้ว่าฯ ชี้ไม่มีกฎหมายรอบรับผู้บุกรุก

เบญจาได้ซักถามในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า จากการไปในพื้นที่ที่ผ่านมา ตนพบว่าประชาชนมีความกังวลในเรื่องการถูกไล่รื้อเป็นหลัก ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยมีกำหนดการหรือระยะเวลาในการแจ้งชาวบ้านให้ทราบล่วงหน้าอย่างไรหรือไม่ หรือเวลาลงไปแจ้งชาวบ้าน ได้มีการปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วถึงล่วงหน้านานเท่าไหร่ เพราะตอนนี้ประชาชนบางคนได้รับผลกระทบในเรื่องของการส่งหมายศาลมาฟ้องร้อง ตรงนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถที่จะชะลอหรือมีวิธีการอย่างไรในการยืดระยะเวลาออกไปได้หรือไม่ อยากให้มีความเห็นใจชาวบ้าน ว่าช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤติโควิด ต้นทุนของคนในการหาที่อยู่ใหม่ การถูกไล่รื้อย่อมต้องสูงกว่าปกติ จึงอยากทราบว่าทางการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมาตรการต่อเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้ สุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินเนื่องจากต้องส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทเอกชนตามข้อตกลงที่ทำการลงนามภายใน 2 ปีนับจากวันที่ลงนามสัญญา หรือก็คือวันที่ 24 ตุลาคม 2564 แต่ทว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำการส่งมอบพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการก่อสร้างให้เกิดผลประโยชน์เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติโดยไว ส่วนการเยียวยานั้น ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราพยายามของบประมาณส่วนนี้จากสำนักงบประมาณ แต่สำนักงบประมาณมีข้อท้วงติงมาว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รัฐไม่สามารถเยียวยาให้แก่ผู้บุกรุกได้ แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและจะหาทางชดเชยประชาชนในการย้ายออกจากพื้นที่ให้ได้ แต่สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่าคงจะไม่ได้รับการเยียวยาเท่ากับกรณีเวนคืน เพราะเป็นการที่ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ของการรถไฟโดยไม่ได้ขออนุญาต

*** ตัวแทน ปชช.เผยอยู่มานานกว่า 60 ปี – โดนหมายศาลให้ย้ายออก โวยไม่มีส่วนร่วมโครงการพัฒนา

เบญจา ถามอีกว่า ไม่ทราบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวเวนคืนที่ดินที่ชัดเจนหรือยัง และในกรณีของผู้เช่า มีมาตรการอย่างไรในการให้ความช่วยเหลือจากการสูญเสียอาชีพ ตอนนี้ประชาชนตลอดแนวก่อสร้างทางรถไฟตั้งแต่กรุงเทพจนถึงอู่ตะเภา บางชุมชนยังไม่รู้ว่าแนวเวนคืนมีข้อกำหนดอย่างไร จำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด การรถไฟแห่งประเทศไทยมีข้อมูลชัดเจนมากน้อยเพียงใดในส่วนนี้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะจัดการได้ลงตัว ซึ่งตามกำหนดส่งมอบที่ว่ามาอาจจะทำได้ไม่ทันการส่งมอบ

รองผู้ว่าฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปจบครบถ้วนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการปักหลักเขตที่ชัดเจน การชดเชยทดแทนก็อยู่ในการดำเนินการอยู่ ส่วนการหาพื้นที่ให้ผู้บุกรุกทดแทนนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยคงไม่สามารถไปดำเนินการได้ คงต้องให้กระทรวงหาดไทยไปพิจารณา เพราะจะมีเรื่องของการหาอาชีพทดแทนให้มาเกี่ยวข้องด้วย สุดท้ายหากการรถไฟแห่งประเทศไทยย้ายชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่อื่นของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็อาจจะไม่สะดวกในส่วนของการประกอบอาชีพ จึงต้องให้กระทรวงมหาดไทยมาช่วยพิจารณาในส่วนนี้

ขณะที่ สุมิตรา รุ่งวารี ตัวแทนชาวบ้านในเขตราชเทวี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งพนักงานมาพ่นสีตัวบ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าให้ออกย้ายออกจากพื้นที่ บางคนก็มีหมายศาลส่งมา ในส่วนนี้ตนอยากให้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นนมาพิจารณาแนวทางศึกษาผลกระทบจาก การสร้างแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงสามสนามบิน เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ที่ดินและพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย เพราะชาวบ้านตาดำๆ ไม่รู้ว่าจะต้องไปตรงไหน ตนอาศัยอยู่ในพื้นที่ราชเทวี-มักกะสันชั่วอายุมา 63 ปีแล้ว ถ้าจะให้ไปอยู่ที่อื่นหรือไปที่ใหม่ก็คงไม่มีที่จะไป ขณะนี้ชาวบ้าน 21 ชุมชน กว่าหมื่นครอบครัวกำลังลำบากกันจริงๆ

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด

ด่วน! เครนยักษ์ ถล่มทับคนงาน เบื้องต้นมีรายงานการเสียชีวิต 6 ราย

ด่วน! เครนยักษ์ ถล่มทับคนงาน ไซด์งานก่อสร้าง ในโรงงานแห่งหนึ่ง ในจ.ระยอง เบื้องต้นมีรายงานการเสียชีวิต 6 ราย

ทัวร์ลงยับ! หนุ่มสงสัย หลังได้ใบสั่ง ‘ไม่จอดรถให้คนข้าม’ ลั่น ข้อหานี้มีด้วยเหรอ?

หนุ่มสงสัย! โพสต์โวยได้ใบสั่ง ‘ไม่จอดรถให้คนข้ามถนน’ แต่คดีพลิก เมื่อชาวเน็ตพาทัวร์ย้อนกลับ ไปสอบใบขับขี่มาจากไหน

เจ้าของร้านหมูกระทะ แจงดราม่า ใช้ไม้เรียวตีพนักงาน เป็นไปตามข้อตกลง

แขวะกลับแรง! เจ้าของร้านหมูกระทะ ย่านพัทยา แจงดราม่า ใช้ไม้เรียวตีพนักงาน พร้อมโพสต์เฟซฟาดชาวเน็ต อย่าตัดสินอะไรที่ยังไม่รู้จากปาก

เตรียมซึ้งกับเจ้าพ่อเพลงอกหัก “YOUNG CAPTAIN” ในคอนเสิร์ต 11 พ.ค. นี้!

เตรียมซึ้งกับเจ้าพ่อเพลงอกหักจากจีน “YOUNG CAPTAIN” พร้อมบินมาดามใจเหล่าสาวกคนใจอ่อน ที่ประเทศไทยกันแล้ว 11 พ.ค. นี้

5 ราศี การงาน – การเงิน – โชคลาภ เป็นดั่งใจหวัง

อาจารย์กิติคุณ พลวัน เผย ดวงเมษายน 2567 : 5 ราศี หลุดจากบ่วงความทุกข์ ก้าวสู้ความสุข พร้อมแจกเลขมงคล และวิธีเสริมดวงสุดปัง!
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า