อย. เผย ขั้นตอนการ ขอปลูกกัญชง ไม่ยุ่งยาก ขณะนี้มีผู้ขอขึ้นทะเบียนจำนวนมาก เตือน ระวังกลุ่มนายหน้าหลอกเร่งขึ้นทะเบียน
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผย ขั้นตอนของการขออนุญาติปลูกกัญชงไม่ยุ่งยยาก รวดเร็ว สามารถปลูกได้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกร ทั้งนี้ควรระวังนายหน้าหลอกช่วยเร่งขอใบอนุญาตปลูกกัญชงพร้อมรับซื้อผลผลิต โดยเสียค่าสมาชิก ทางที่ดีควรติดต่อ อย. หรือ สสจ. เพื่อขอข้อมูลโรงสกัดที่กำลังยื่นขออนุญาต
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ โดยยื่นคำขอ ณ จังหวัดที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงให้ยื่นคำขอที่ อย.
เนื่องจากกฎหมายเพิ่งอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชงได้ตั้งแต่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้ยื่นคำขอในขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของเอกสารและสถานที่ปลูก ซึ่ง อย. และ สสจ. พร้อมให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน และเมื่อยื่นคำขอแล้ว อย. และ สสจ. จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถปลูกกัญชงป้อนสู่ตลาดได้ทันตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ในส่วนของความคืบหน้า การออกกฎหมายให้ใช้กัญชงในอาหาร ขณะนี้ กฎหมายอนุญาตให้ใช้เมล็ดกัญชง น้ำมันและโปรตีนจากเมล็ดกัญชง ซึ่ง อย. จะทยอยออกกฎหมายให้สามารถใช้ส่วนอื่นของกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มเติม หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกัญชา กัญชง สามารถสอบถามข้อมูลที่ถูกต้องได้ที่ อย. และ สสจ. ทั่วประเทศ
สำหรับผู้ที่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้คือ เกษตรกร , วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ , ประชาชนทั่วไป , นิติบุคคลสัญชาติไทย และหน่วยงานรัฐ-เอกชน
โดยขั้นตอนการขออนุญาตปลูก “กัญชง” มีดังนี้
กรณีผู้ขอนำเข้า (เมล็ดพันธ์ุกัญชง) เอกสารที่ต้องเตรียม คือ
– แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชง 3)
– แผนการนำเข้า แผนการใช้ประโยชน์
– ใบรับรองของผู้ผลิตในต่างประเทศ
– เอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นๆ
จากนั้นนำเอกสารไปยื่นคำขอรับอนุญาต ณ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอแล้วจะเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา ก่อนออกใบอนุญาตต่อไป
กรณีผู้ขอผลิต (โดยการปลูก) เอกสารที่ต้องเตรียม คือ
– แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชง 1)
– แผนการผลิต แผนการใช้ประโยชน์
– แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ปลูกและเส้นทางการเข้าถึง
– หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือสิทธิครอบครอง
– แบบแปลนอาคารโรงเรือน และภาพถ่าย
– เอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่น ๆ
จากนั้นนำเอกสารไปยื่นคำขอรับอนุญาต
– กรณีสถานที่ปลูกตั้งอยู่กรุงเทพฯ ให้นำเอกสารไปยื่น ณ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
– กรณีสถานที่ปลูกตั้งอยู่ต่างจังหวัด ให้ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอและสถานที่เรียบร้อยแล้ว จะเสนอคณะกรรมการพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย. ยันใช้ส่วนของกัญชา-กัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติด ประกอบอาหาร-จำหน่ายภายในร้านได้