ครม.เปิดทางกู้เงินจากแหล่งเงินในต่างประเทศ 1.6 แสนล้าน ลงทุนรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพ-โคราช” เผย “ไชน่า เอ็กซิมแบงก์” ชงปล่อยกู้ดอกเบี้ย 2.3% ถูกกว่าแหล่งเงินในประเทศ
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 เกี่ยวกับการกู้เงินสำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)
โดยที่ประชุมครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และนำมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อ สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงิน 166,342 ล้านบาท และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่ รฟท. เพื่อใช้ชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินโดยตรงทั้งในส่วนเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มติครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 กำหนดให้การลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นกรุงเทพ-นครราชสีมา จะใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศเท่านั้น แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป และสถานบันการเงินหลายแห่งมีข้อเสนอการกู้ยืมที่ให้สิทธิประโยชน์น่าสนใจ ครม.จึงเห็นควรให้เพิ่มช่องทางการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (ไชน่า เอ็กซิมแบงก์) คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกสุดที่ 2.3% เทียบกับแหล่งเงินกู้ในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ย ระยะ 20 ปี ที่ 2.86% ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าการกู้เงินจากแหล่งใด มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและให้มีสิทธิประโยชน์มากที่สุด โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ก่อนถึงกำหนดชำระเงินค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงงวดแรกในเดือน ก.ค.2562