รมว.เกษตรฯ เตรียมชงครม. 20 พ.ย.นี้ พิจารณามาตรการชดเชยราคายางกิโลกรัมละ 4.09 บาท นาน 69 วัน ขณะที่ชาวสวนยางรอฟัง หากราคายางไม่ขึ้นจะนำยางมาเผาคนละ 1 กิโลกรัม
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังหารือกับแกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช และจ.สุราษฏร์ธานี เพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่า กระทรวงเกษตรฯจะนำข้อเสนอการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำของเกษตรกร ไปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ได้แก่ 1.ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าไปชดเชยราคาซื้อขายยางแผ่นรมควันและยางแผ่นดิบ ที่กิโลกรัมละ 4.09 บาท จากราคาตลาด ซึ่งเทียบเคียงจากราคา ณ ท่าเรือ และราคาซื้อขายตลาดล่วงหน้า กับ ราคาซื้อขายจริงในตลาดกลาง 6 แห่ง เป็นเวลา 69 วันทำการ นับจากวันที่ 20 พ.ย.2561-28 ก.พ.2562
“มาตรการระยะเร่งด่วนดังกล่าว จะทำให้จูงใจให้เกษตรกรที่ทำน้ำยางสด หันมาทำยางแผ่นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำยางสดกระเตื้องขึ้นมาได้”นายกฤษฏากล่าว
2.ออกมาตรการพัฒนาส่งเสริมเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยจัดสรรเงินชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ในอัตราไร่ละ 1,500-1,800 บาท รายละไม่ต่ำกว่า 15 ไร่ และ3.เร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพารา 2 แสนตัน ไปทำถนน และสนามกีฬา ซึ่งที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งรัดปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น คาดว่าจะประกาศได้สัปดาห์หน้า
นายกฤษฎา ยังกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ขอความร่วมมือจากบริษัทส่งออกยางรายใหญ่ ให้เข้าไปรับซื้อยางภายใน 2 สัปดาห์ โดย กยท.จะชดเชยราคาให้กิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อพยุงไม่ให้ราคาน้ำยางไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม 100 บาท โดยตั้งเป้าจะทำให้ราคาน้ำยางมากกว่ากิโลกรัมละ 36-37 บาท ขณะที่ตัวแทนเห็นด้วยกับข้อเสนอหยุดกรีดยาง 1 เดือน และจะนำไปหารือกับเกษตรกร แต่จะไม่มีการบังคับ
นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้แปรรูปยางพารา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจะรอฟังมติครม.ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ว่าจะออกมาอย่างไร และหากราคายางยังไม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ราคาน้ำยางหน้าสาวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 31 บาท ก็จะเพิ่มมาตรการกดดันเพิ่มเติม โดยการเปลี่ยนเป็นการขับรถในเลนขวา และให้เกษตรกรชาวสวนยางนำน้ำยางมาเผาทิ้งคนละ 1 กิโลกรัม