“กุลิศ” เปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างแผน PDP ฉบับใหม่ กดค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3.576 บาท/หน่วย ไปจนถึงปี 2580 พร้อมเปิดทางผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 1.8 หมื่นเมกะวัตต์
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยระหว่างเปิด “เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ (Public Hearing)” ที่กรุงเทพฯ ว่า ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ ซึ่งสิ้นสุดปี 2580 คาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกตลอดทั้งแผนจะอยู่ที่ 3.576 บาท/หน่วย ต่ำกว่าแผน PDP ฉบับเดิมที่คาดว่าจะอยู่ 5.55 บาท/หน่วย
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าภายใต้แผน PDP ใหม่ไม่สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นผลจากการปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็น 53% ในปี 2580 จากแผนเดิมที่จะลดสัดส่วนก๊าซฯเหลือ 37% ในปี 2579 เนื่องจากซัพพลายก๊าซฯในตลาดเพิ่มขึ้น และมีราคาถูกลง
นายกุลิศ กล่าวว่า ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ ยังริเริ่มจัดทำพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาค จากเดิมเป็นการพยากรณ์ความต้องการเป็นแบบภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้จัดสรรโรงไฟฟ้าได้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละภูมิภาค ขณะที่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จะทำให้การผลิตไฟฟ้าใช้เองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในระบบอาคารและโรงงาน
นายกุลิศ กล่าวว่า ภายใต้ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไปจนถึงปี 2568 เนื่องจากมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่หลังจากปี 2568 ไปแล้ว จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในระบบ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อถึงปี 2580 กำลังการผลิตที่เชื่อถือได้จะต่ำกว่าความต้องการใช้ 27,000 เมกะวัตต์ (MW)
สำหรับหลักการการจัดสรรกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการไปถึงปี 2580 มี 4 แนวทาง คือ 1.โรงไฟฟ้าตามนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
2.โรงไฟฟ้าหลักจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งแต่ละภาคต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมาจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาอยู่แล้วทั้งจากโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) โรงไฟฟ้าผู้ผลิตขนาดเล็ก (SPP) และจากซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
3.โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โซลาร์ภาคประชาชน โซลาร์ลอยน้ำ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 18,000 MW และ4.การเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้ไฟฟ้าตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ด้านไฟฟ้า ซึ่งกำหนดไว้ที่ 4,000 MW
“การปรับปรุงแผน PDP จะให้ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ด้านความมั่นคง คือ สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค 2.ด้านราคา จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อรักษาระดับราคาไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น และ3.ด้านสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน พัฒนาระบบ Smart Grid เพื่อรองรับการที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer)”นายกุลิศกล่าว