สคร.เผยไตรมาแรกปีงบ 62 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 6.5 หมื่นบาท สูงกว่าเป้า 26% ขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติคาดปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4%
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 2562 (ต.ค.-ธ.ค.2561) เงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 65,513 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการสะสม 13,570 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26% ของเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณประจำปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2562
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมจำนวน 52,995 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81% ของเงินนำส่งรายได้สะสมทั้งหมด
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 2562 (ต.ค.-ธ.ค.2561) กรมจัดเก็บภาษีได้ 412,391 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 41,709 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.3% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ 28,006 ล้านบาท หรือ 7.3% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเก็บภาษีเกินเป้าทุกตัวทั้งภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ยกเว้นภาษีมรดกที่ไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายแต่จัดเก็บได้ 186 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบ 2562 กรมตั้งเป้าจัดเก็บภาษีที่ 2 ล้านล้านบาท และน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายเพราะเศรษฐกิจขยายตัวดีอยู่
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอตัวลง แต่ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และธปท.พร้อมใช้เครื่องมือทางเงินมาดูแล หากเห็นว่าความเสี่ยงมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และการปรับอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนกรณีอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ระดับต่ำประมาณ 1% ยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เพราะประชาชนยังใช้จ่ายเป็นปกติ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ การบริโภค การจ้างงาน และการลงทุนยังขยายตัว และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำมาจากราคาพลังงานในตลาดโลก
นายวิรไท กล่าวว่า แม้ขณะนี้เสถียรภาพระบบการเงินของไทยจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปก็ยังไม่สามารถวางใจได้เต็มที่นัก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เปรียบเสมือนเป็นธนาคารเงาขนาดใหญ่ในระบบการเงินไทย การออกพันธบัตรที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ, การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดใหญ่ และการให้สินเชื่อแบบมีเงินทอนในภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น