นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่าตอนนี้่ยังไม่ปรับคณะรัฐมนตรี ชี้เพ้อเจ้อกันไปเอง พร้อมชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจคลี่คลายคดีฆ่ายกครัว 8 ศพใน จ.กระบี่ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังไม่มีการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเงินทอนวัด และยืนยันยังไม่ปิดกราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ้นเดือนกันยายนนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวจะมีการปิดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ว่า ยังไม่มีกำหนดการออกมา ไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน ทุกเรื่องอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการอำนวยการจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งต้องไปดูว่าระยะเวลาในการต้องเตรียมความพร้อมพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 จะใช้เวลาเท่าใด เพราะต้องพิจารณาเรื่องการจราจร การเคลื่อนย้ายพระบรมศพ ซักซ้อมพระราชพิธี และดำเนินการขอพระราชวินิจฉัย ดังนั้นอย่าเพิ่งตื่นตกใจ ส่วนที่มีข่าวว่าบางหน่วยงานได้กำหนดเวลาไว้แล้วนั้น อาจเป็นเรื่องการจัดทำงบประมาณประจำเดือนเพื่อเข้าไปอำนวยความสะดวกประชาชน ที่ท้องสนามหลวง
นายกฯ ปัดปรับ ครม. ระบุข่าวเพ้อเจ้อ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการโยกย้ายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าไปดูแลการจัดการเลือกตั้ง ว่า ยังไม่ได้คิดอะไรสักอย่าง กลายเป็นข่าวใหญ่โตได้อย่างไร ถามว่าใครดูการเลือกตั้ง ต้องเอาใครไปดูหรือไม่ เพราะมันมีขั้นตอนมีหน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมายอยู่แล้ว กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่สนับสนุนการเลือกตั้ง หน่วยงานด้านความมั่นคงก็ไปดูแลความปลอดภัยทั้งในและนอกคูหาการเลือกตั้ง หน่วยงานอื่นก็ช่วยกันดูเรื่องทุจริต ความโปร่งในการเลือกตั้ง ภายใต้การทำงานที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ดังนั้นจะให้ไปย้ายนั่น ดูนี่ ย้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือเอาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมานั่งเป็นรัฐมนตรี เพ้อเจ้อทั้งนั้น เข้ามาอยู่ในหัวตัวเองด้วยหรือไม่
นายกฯ ชมตำรวจคลี่คลายคดีฆ่ายกครัว 8 ศพ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมตำรวจสามารถดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม 8 ศพที่ จ.กระบี่ โดยบอกว่าขอชื่นชมทุกคน ทุกหน่วยงานที่ดำเนินคดีจับกุมผู้ต้องหาได้ ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กหรือคดีใหญ่ ทุกคดีมีความยากง่ายต่างกัน ก็ต้องให้ความสำคัญทุกคดี ส่วนคดีนี้มีผลกระทบกับสังคมสูง มีการบาดเจ็บสูญเสียจำนวนมาก จึงขอชื่นชมทุกคน และถือเป็นสิ่งดีๆ ที่ตำรวจทำ ซึ่งสังคมควรช่างน้ำหนักว่า ส่วนที่ดีมีมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่เป็นจุดบอดก็ต้องแก้ไขกันไป ต้องทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้กำชับให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องลงพื้่นที่ ดูแลคดี ซึ่งถือเป็นการทำงานแบบมืออาชีพ จากนี้เมื่อมีคดีใหญ่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องลงไปขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จนถึงวันนี้มีใครออกมาขอโทษทหารหรือไม่ ที่ออกมาอ้างว่า ผู้ต้องหาเป็นคนมีสี เป็นข้าราชการตำรวจทหาร มีใครออกมาขอโทษบ้าง ไม่เห็นมีสักสี สื่อมวลชนต้องเช็คให้ดีก่อน ไม่ใช่เขาใส่เสื้อมาก็อ้างว่าคนมีสี ส่วนตัวก็นั่งนึกอยู่ว่า ใส่ชุดทหารไปฆ่าคนนี่มันโง่ มันสมควรหรือไม่ หรือที่มีข่าวว่าไปกล่าวอ้างข่มขู่ประชาชน และเรียกชื่อแค่ผู้หมวด ผู้กอง ต้องขอดูบัตรประชาชนก่อน อย่าไปโง่ให้เขาหลอก สุดท้ายถ้าผู้กระทำผิดเป็นตัวจริง ก็จะลงโทษทางวินัย ไม่เอาไว้อยู่แล้ว แบบนี้เสียหายทั้งระบบ
นายกฯ ปัดอียูไม่พอใจแก้ปัญหาประมงของไทย
นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการปลดธงเหลืองของไอยูยู หลังมีข่าวคณะทำงานของสหภาพยุโรปแสดงความไม่พอใจในการแก้ไขปัญหาของ ประเทศไทย ว่า ไม่ใช่ไม่พอใจ อย่าใช้คำว่าไม่พอใจ แต่เขาอยากให้เร่งรัดการดำเนินการให้ได้ผล 100% แต่ที่ผ่านมาเราทำได้มากแล้ว ซึ่งต้องทำตามกติกาที่ไอยูยูกำหนด รวมถึงต้องแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นของชาวประมง ซึ่งต้องหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนหลายอย่าง หลายต้องทำใหม่ทั้งหมด แม้กระทั่งการวัดขนาดเรือ การจดทะเบียนว่ามีเรือกี่ลำ วันนี้ถือว่าทำได้น่าพอใจในส่วนของเรา แต่กติกาของไอยูยู ต้องพิจารณาตามมาตรฐานที่กำหนด เขาไม่ย้อนมาดูปัญหาของเราว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นต้องมีการดำเนินการหลายอย่าง หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าพอนำกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ บางเรื่องก็ถูกต่อต้านจึงทำงานได้ช้า ต้องขอให้ทุกคนกลับมาเคารพกฎหมายก่อน ไม่ใช่แค่เรื่องนี้แต่ต้องทุกเรื่อง เพราะหากไม่กลับมาเข้าสู่กระบวนการ ก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งหมดหมดก็เกิดความขัดแย้ง
นายกฯ ปัดตอบ โครงการสะพานคนเดินข้ามเจ้าพระยา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สังคมตั้งคำถามถึงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณโครงการสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า เรื่องนี้ยังมาไม่ถึงรัฐบาล แต่เห็นข่าวเหมือนกัน เป็นแนวคิดเฉย ๆ ไม่ใช่ว่าจะทำได้เลย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คิดแล้วจะทำได้เลย ยืนยันว่าวันนี้ยังมาไม่ถึงรัฐบาล ส่วนตัวไม่มีความคิดเห็น ประชาชนก็ไปดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ มีความเป็นไปได้หรือไม่
นายกฯ ปัดสั่งตัดสิทธิ์บริษัทประมูลข้าวหวังเงินทอน
ส่วนกรณีที่ฝ่ายการเมืองออกมาเปิดเผยว่าพบความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าว โดยอ้างชื่อนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อไปหาผลประโยชน์และตัดสิทธิ์การเข้าประมูลซื้อข้าวของบางบริษัทนั้น พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ต้องไปดูก่อนว่าข่าวออกมาช่วงนี้ต้องการอะไรหรือไม่ เนื่องจากคดีปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จะมีการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 โดยยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากการดำเนินการเป็นมติคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว หรือ นบข.
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ในการประชุมนัดสุดท้าย ก่อนที่จะมีการระบายข้าว ได้มีการสอบถามในที่ประชุมว่า ถ้ามีผู้ประกอบการที่ถูกขึ้นบัญชีดำเข้ามาขอประมูลข้าว จะใช้สิทธิ์การประมูลได้หรือไม่ ซึ่งมติ นบข. ก็บอกว่าไม่ได้ ไม่ควรให้ ก็เชื่อว่านี่คือสิ่งที่เขาจะเอาไปอ้าง ดังนั้น หากมีบุคคลที่มีคดีความในช่วงที่ผ่านมา 5-10 ปี ก็ถูกตัดสิทธิ์ แต่อาจจะมีคนไปอ้างว่า นายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ฉัตรชัย เป็นคนตัดสินตัดสิทธิ์หรือเรียกรับเงินทอน ยืนยันว่าไม่เคยทำอะไรพวกนี้อยู่แล้ว และทุกอย่างดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ดังนั้นอย่าเพิ่งวุ่นวาย ไปรอดูคดีนัดสุดท้ายก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนเรื่องการระบายข้าว ที่ผ่านมาตรวจสอบอะไรไปหลายอย่าง เห็นใจคนทำบ้าง ไปดูก่อนว่าเขามีชื่อในบัญชีดำ มีคดีความหรือไม่ เพราะถ้ามีก็ไม่สมควรที่จะเข้ามาประมูลอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีการระดมมวลชนไปให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ ไม่ได้อยากไปห้ามปรามอะไร แต่ขอร้องอย่าทำผิดกฎหมาย อย่าละเมิดอำนาจศาล อย่าละเมิดกระบวนการยุติธรรม ไม่อย่างนั้นจะถูกดำเนินคดี ถ้ามีการใช้ความรุนแรงจนเกิดเรื่องบานปลาย ก็รับผิดชอบกันเอง เพราะจะไม่ละเว้นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
นายกฯ ปัดใช้ ม.44 แก้ปัญหาเงินทอนวัด ยันใช้กลไกปกติแก้ปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พระสงฆ์บางรูปออกมาโจมตีการทำงานของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการสืบสวนคดีเงินทอนวัด ว่า ขอชื่นชมการทำงานของผู้อำนวยการ พศ. วันนี้มีการดำเนินการเรื่องนี้จนเกิดความชัดเจน เพราะคนไทยนับถือศาสนาพุทธกว่า 90% ดังนั้นต้องทำให้เกิดความเคารพ ความศรัทธา อย่าไปตัดสินว่า อันนี้ดีทั้งหมดหรือเลวทั้งหมด ส่วนเรื่องไม่ดี ไม่ว่าจะกี่วัด กี่องค์ ต้องดูว่าปริมาณส่วนใหญ่มีเท่าไร ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย เรื่องตำรวจไม่ดีก็ส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนทั้งหมด ก็ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาส่วนน้อยนี้ให้ได้ แต่ต้องอย่าไปตีประเด็นวจนเกิดความขัดแย้ง จนทำลายศาสนาพุทธเข้าไปอีก แต่ตอนนี้ต้องลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับศาสนาก่อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ต้องไม่นำไปสู่จุดที่แบ่งแยกกัน ตีกัน ศาสนาพุทธสอนให้เราสงบ สันติ มีคุณธรรม ไม่เคยสอนให้คนแบ่งแยก มีแต่บอกให้รวมกำลังกันทำในสิ่งที่ดีงาม
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาเงินทอนวัด ว่า เป็นเรื่องทุจริตที่ต้องตรวจสอบกันไป พศ. ก็หาข้อมูลให้ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบตามกฎหมาย ทำไมต้องใช้มาตรา 44 แม้กระทั่งการตรวจสอบก็ทำเยอะแล้ว จนเรื่องไปถึงศาล ก็ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับกระบวนการศาล ดังนั้นส่วนที่โจมตีศาสนาต้องหยุดได้แล้ว ปล่อยให้เขาดำเนินการไป อย่าไปเร่งรัด พระสงฆ์ต้องให้เกียรติท่าน ผิดว่าตามผิด ทุกคนต้องยอมรับกติกานี้ อย่าไปทำอะไรให้ครึกโครมมากนัก จะส่งผลเสียทางด้านจิตใจ สื่อมวลชนก็ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย
นายกฯ ระบุ หากปรองดองไม่สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบ
ขณะที่เรื่องความคืบหน้าในการทำเวทีปรองดอง โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่ออกมาระบุว่า หากปรองดองไม่สำเร็จ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองคือใคร ที่บอกว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ ถามว่าตัวเองไปบังคับใครได้หรือไม่ เพราะความปรองดองคือความร่วมมือของคนทุกระดับทุกฝ่ายทุกพวก ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง กลุ่มการเมือง เห็นมีความร่วมมือกันดีในการแสดงความเห็น 10 ประเด็น หลังจากนี้ต้องมาดูว่าจะทำให้เกิดรูปธรรมอย่างไร ต้องทำอะไรกันบ้าง ประเด็นสำคัญ คือ การประท้วง การชุมนุม ที่อ้างสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ต้องมาดูว่าต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน รับกันได้หรือไม่ โดยในประเทศที่เจริญแล้วไม่มีการทำเช่นนี้ เพราะเขาขออนุญาตชุมนุม ถึงเวลาก็เดินทางกลับ ไม่ใช่จะชุมนุมกันตายไปข้างหนึ่ง เขาชุมนุมแค่รัฐบาลรับเรื่องไปพิจารณาก็จบ ส่วนถามว่าใครจะรับผิดชอบ ก็คนไทยทั้งประเทศต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่อะไรก็รัฐบาล ติดนิสัยกันหมด ไม่คิดจะทำอะไรกันเลยหรืออย่างไร เคยคิดจะปฏิรูปตัวเองกันหรือไม่
นายกฯ เผยปชช.ตอบคำถาม 4 ข้อแล้วกว่า 5 แสนคน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแสดงความเห็นของประชาชนในการตอบคำถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรี ว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีประชาชนเข้ามาตอบคำถามแล้ว 527,956 คน จะเท่าไรก็เท่านั้น โดยจังหวัดที่เข้ามาแสดงความเห็นสูงสุด จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และอุบลราชธานี ส่วนจังหวัดที่เข้ามาตอบคำถามน้อยที่สุดคือ จังหวัดสมุทรสาคร เพชรบุรี และแพร่
โดยสาระสำคัญอยากเห็นประเทศเดินหน้าไปได้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลมีธรรมาภิบาล เกิดความยั่งยืนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ส่วนเรื่องการเมืองเป็นกลไกที่ต้องมีการปฏิรูป เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดี นักการเมืองที่ดีมีคุณธรรม ส่วนคนที่ทำผิดไม่อยากให้เข้ามารับการเลือกตั้ง ความเห็นทั้งหมดเป็นแบบนี้ จะมากล่าวอ้างว่าสรุปเข้าข้างตัวเองตรงไหน ไม่เห็นมี ขอถามกลับไปว่า มีใครไม่อยากเห็นบ้านเมืองเป็นแบบนี้บ้าง