การสร้างบ้านในสมัยโบราณ ชาวบ้านจะสร้างบ้านให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เช่นเดียวกันกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร ที่มีการสร้างบ้านเสาสูง เหมือนอยู่บนรังนก ส่วนจะมีลักษณะเป็นอย่างไร เราไปชมสภาพของหมู่บ้านแห่งนี้กัน
นี่เป็นความชาญฉลาดที่เป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษของชาวบ้านในหมู่11 บ้านปากคลอง ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 30-40 หลังคาเรือน โดยบ้านแต่ละหลังจะสร้างบ้านใช้เสาไม้มีความสูง 4-5 เมตร เพื่อให้บ้านของตนรอดพ้นจากน้ำท่วม เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ริมตลิ่งของแม่น้ำยม ซึ่งในทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำก็จะไหลบ่ามาจากภาคเหนือเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ จึงต้องสร้างบ้านแบบมีใต้ถุนสูง และทุกบ้านจะมีเรือพาย เรือหางยาว เป็นพาหนะประจำบ้าน รวมถึงเด็กๆ ในหมู่บ้านนี้ก็จะถูกฝึกให้ว่ายน้ำเป็นมาตั้งแต่เด็ก
นายธีรพงศ์ เพ็ชรพงศ์ นายก อบต.รังนก เล่าว่า เหตุที่ต้องสร้างบ้านเสาสูงปรี๊ดเช่นนี้ก็เพราะ ต้องการหนีน้ำท่วม จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อตำบลแห่งนี้ว่า “ตำบลรังนก” เพราะสร้างบ้านและต้องอยู่อาศัยในที่สูงเหมือนรังนกที่อยู่บนยอดไม้ จึงกลายเป็นหมู่บ้านแปลกประหลาดแบบนี้ก็มีด้วย
สำหรับชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา แต่ฤดูน้ำหลากก็จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส แปลงร่างเป็นชาวประมงออกทอดแหหาปลา และทำปลาร้าขาย แต่ช่วงฤดูน้ำหลากถ้าว่างงานชายหนุ่มในหมู่บ้านก็จะรวมตัวกันฝึกซ้อมพายเรือยาว เพื่อทำการแข่งขันเชื่อมความสามัคคี ซึ่งจะจัดงานแข่งเรือยาวประเพณีในช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี จึงนับได้ว่าเป็นการปรับตัวของมนุษย์ให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน