“กลุ่มซีพี” จ่อชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐ “ต่ำสุด” และให้ผลประโยชน์ต่อภาครัฐดีที่สุด
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งใช้เวลากว่า 9 ชั่วโมง ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ยื่นข้อเสนอทางการเงินและผลประโยชน์ให้รัฐดีที่สุด
“กลุ่มซีพียื่นข้อเสนอรับการอุดหนุนจากภาครัฐต่ำที่สุด ซึ่งน้อยกว่าวงเงินอุดหนุนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.19 แสนล้านบาท และต่ำกว่ากิจการร่วมค้า BSR ซึ่งเป็นคู่แข่ง”นายวรวุฒิกล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการฯ จะเชิญตัวแทนกลุ่มซีพี เข้ามาชี้แจงตัวเลขทางการเงินทั้ง 8 ส่วนว่าเชื่อมโยงอย่างไร และทำได้จริงหรือไม่ ส่วนตัวเลขของกลุ่ม BSR ไม่พบว่ามีปัญหา ซึ่งคาดว่าไม่เกินวันที่ 21 ธ.ค.นี้ จะสามารถประกาศผู้ผ่านซอง 3 หรือซองราคาอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะเรียกผู้เสนอราคาต่ำสุดมาเจรจาต่อรอง ก่อนจะเปิดซองข้อเสนอพิเศษหรือซอง 4 ในอีก 2 สัปดาห์
สำหรับข้อเสนอทางการเงินหรือซองราคา ซึ่งมี 8 ส่วน คือ 1.บัญชีปริมาณงาน 2.แผนธุรกิจ 3.แผนการเงิน 4.แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 5.ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ และกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน 6.ผลตอบแทนทางการเงินตลอดอายุของสัญญาร่วมลงทุน 7.จำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐและจำนวนเงินที่รัฐได้รับจากเอกชน และ8.การกำหนดอัตราค่าโดยสาร
ทั้งนี้ เอกชนยื่นซองประมูลโครงการ ประกอบด้วย 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง ถือหุ้น 70% บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และช.การช่าง (CK) ถือหุ้นรวมกัน 15% บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ถือหุ้น 5% และ China Railway Construction Corporation Limited (จีน) หรือ CRCC ถือหุ้น 10%
และ2.กิจการร่วมค้า BSR ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีอีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้น 60% บริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสครัคชั่น (STEC) ถือหุ้น 20% และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 20%