กสทช.แจงเกณฑ์เยียวยาทีวีดิจิทัล เว้นจ่ายเงินค่าประมูล 3 งวด

กสทช.เปิดเวทีกลุ่มย่อยแจงหลักเกณฑ์เยียวยาทีวีดิจิทัล-ประมูลคลื่น 700 MHz กำหนดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ แถมยกเว้นค่าประมูล 10% ของราคาประมูลขั้นต่ำ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโครงข่าย MUX เข้ารับฟังการชี้แจงร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว จะกำหนดให้เรียกคืนคลื่นย่าน 694 – 790 MHz (ช่วง 703 – 738 MHz คู่กับ 758 – 793 MHz รวม 2 x 35 MHz) จากผู้ประกอบกิจการภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพื่อนำมาใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมหรือสำหรับเทคโนโลยี 5G โดยได้กำหนดการทดแทน ชดเชย หรือจ่ายค่าตอบแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งได้แก่ ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล และผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล จะได้รับการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน เท่ากับมูลค่าเงินประมูล 1 งวดสุดท้ายของราคาขั้นต่ำ และ 2 งวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ รวมถึงค่าเช่าบริการโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry)

ส่วนผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย และผู้รับใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล: ทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนเท่ากับค่าใช้จ่ายจากการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายโทรทัศน์ หรือค่าผลกระทบโดยตรงที่ผู้ให้บริการโครงข่ายได้รับจากการปรับเปลี่ยนการให้บริการ

ขณะที่หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz กำหนดให้ 1. ประมูลคลื่นความถี่ 7 ใบอนุญาต ใบละ 2 x 5 MHz อายุใบอนุญาต 20 ปี 2.ใช้วิธีประมูลแบบหลายรอบ และราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ 3.ราคาขั้นต่ำเป็นไปตามหนังสือชี้ชวนตามที่คณะกรรมการประกาศ 4.เสนอราคาเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งตามกฎการประมูล

5.แต่ละรายให้ประมูลได้ไม่เกิน 3 ชุดคลื่นความถี่ หรือ ไม่เกิน 2 x 15 MHz 6.ผู้ชนะผ่อนจ่าย 9 งวด งวดแรก 20% ของค่าประมูล และงวด 2 – 9 จ่ายปีละ 10% ของค่าประมูล และ7.กรณีไม่ชำระเงินประมูลงวดที่สองและงวดอื่น ๆ ต้องชำระเงินเพิ่มจำนวนเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินประมูลที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี คำนวณเป็นรายวัน

ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ในส่วนของการเปิดให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลนั้น จะยังไม่อยู่ในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ฉบับนี้ แต่เป็นประเด็นที่คณะกรรมการ กสทช. ได้มีมติให้นำไปรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะก่อน เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว สำนักงานกสทช.จะนำมาบรรจุในร่างประกาศ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.อีกครั้ง

พ.อ.นที แถลงหลังการประชุมว่า คาดว่าร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จะมีผลบังคับใช้ได้ในเดือนเม.ย.2562 จากนั้นจะใช้เวลาอีก 8 เดือนในการจัดทำแผนคลื่นความถี่โทรทัศน์ใหม่ การทำแผนเปลี่ยนโครงข่ายทีวีดิจิทัล รวมทั้งสรุปการประเมินมูลค่าคลื่น 700 MHz จากนั้นจะจัดให้มีการประมูลคลื่น 700 MHz ในเดือนธ.ค.2562 และเริ่มใช้คลื่นในเดือนธ.ค.2563

ทั้งนี้ หลังจากได้ผู้ชนะประมูลคลื่น 700 MHz แล้ว ผู้ชนะต้องจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรก 20% ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 จากนั้นกสทช.จะนำเงินที่ได้ส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อนำมาเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินค่าประมูลที่เหลือทั้งหมด การจ่ายค่าเช่าโครงข่ายฯ (MUX) และค่าใช้จ่าย Must Carry

“การประมูลคลื่น 700 MHz จะมีขึ้นในเดือน ธ.ค. 2562 และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบประมูล เพราะอย่างไรเสียผู้ชนะการประมูลก็ได้ใช้คลื่นในเดือน ธ.ค. 2563 อยู่ดี ดังนั้น การรีบประมูลและรีบจ่ายเงิน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ประโยชน์อะไร”พ.อ.นทีกล่าว

พ.อ.นที กล่าวว่า ส่วนประเด็นการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลนั้น ทางผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตได้ แต่จะไม่ได้รับเงินชดเชยให้แต่อย่างใด เพราะเป็นเงินของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.2556 ข้อ 10.1 ระบุว่า ในส่วนของการชำระเงินค่าใบอนุญาตขั้นต่ำให้แบ่งจ่ายเป็น 4 งวด ได้แก่ งวดแรก 50% ของราคาขั้นต่ำ งวดที่สอง 30% ของราคาขั้นต่ำ งวดที่สาม 10% ของราคาขั้นต่ำ และงวดที่สี่ 10% ของราคาขั้นต่ำ

สำหรับราคาขั้นต่ำใบอนุญาตทีวีดิจิทัลแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ 1.หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว (หมายเลข 13 หมายเลข 14 และหมายเลข 15) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 140 ล้านบาท

2.หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ (หมายเลข 16 หมายเลข 17 หมายเลข 18 หมายเลข 19 หมายเลข 20 หมายเลข 21 และหมายเลข 22) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 220 ล้านบาท

3.หมวดหมู่ทั่วไปแบบคมชัดปกติ (หมายเลข 23 หมายเลข 24 หมายเลข 25 หมายเลข 26 หมายเลข 27 หมายเลข 28 และหมายเลข 29) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 380 ล้านบาท และ4.หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (หมายเลข 30 หมายเลข 31 หมายเลข 32 หมายเลข 33 หมายเลข 34 หมายเลข 35 และหมายเลข 36) ราคาขั้นต่ำ 1,510 ล้านบาท

ขณะที่ข้อ 10.2 ของประกาศ ระบุว่า การชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำให้แบ่งเป็น 6 งวด ได้แก่ งวดแรก 10% ของเงินในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ งวดที่สอง 10% ของเงินในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ งวดที่สาม 20% ของเงินในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ งวดที่สี่ 20% ของเงินในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ งวดที่ห้า 20% ของเงินในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ และงวดที่หก 20% ของเงินในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า