สบน.ชี้ไทยจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมระบุ 5 ปีข้างหน้าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกินเพดาน 60%
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อรองรับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและพื้นที่ทางการคลังกรณีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ จากการประมาณการในระยะ 5 ปีข้างหน้า พบว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะยังคงอยู่ภายใต้เพดาน 60% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมการมีวินัยทางการคลังให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้มีประกาศเพื่อกำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ (เงินต้น) ไว้ที่ 2.5 – 3.5% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การบริหารหนี้สาธารณะของไทยที่ได้มีการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวไว้ในกฎหมาย เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังและสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว

ส่วนประเด็นการกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีพีดีของไทยที่ไม่เกิน 60% ของจีดีพีนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะดังกล่าวสอดคล้องกับการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และที่ผ่านมากระทรวงการคลังใช้สัดส่วนหนี้สาธารณะดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการบริหารหนี้สาธารณะตลอดมา โดยมีการทบทวนสัดส่วนตามพื้นฐานเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล
“ระดับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 60% ของจีดีพี เป็นระดับที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รักษาวินัยทางการคลังและสามารถรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ รวมทั้งกรอบการบริหารหนี้สาธารณะต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้นำพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จะช่วยให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) ในระยะยาว”นางจินดารัตน์กล่าว