ส.อ.ท.เผยยอดส่งออกรถยนต์ พ.ย. ดิ่ง 9.64% เหตุตลาดส่งออกทั่วโลกหดตัว ยูโรปตัดจีเอสพี ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่น พ.ย. แตะ 93.9 สูงสุดในรอบ 66 เดือน หลังยอดขายเพิ่มขึ้น-ต้นทุนการผลิตลดลง
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ย.2561 อยู่ที่ 93,108 คัน ลดลง 9.64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 48,092.72 ล้านบาท ลดลง 11.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ลดลงมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดอเมริกาเหนือ ส่วนตลาดยุโรปยอดส่งออกรถยนต์ลดลงหลังจากประเทศไทยถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้า (จีเอสพี) ขณะที่ตลาดออสเตรเลียและโอเชียเนียยังมีปัญหาเรื่องภาษี
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 1,045,233 คัน เพิ่มขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 547,472.66 ล้านบาท ลดลง 1.05%
ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนพ.ย.2561 อยู่ที่ 94,614 คัน เพิ่มขึ้น 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชน การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ดัชนีรายได้เกษตรกรดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังมีมาก รวมถึงความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
ขณะที่ 11 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) ยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 928,129 คัน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนยอดผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย.2561 อยู่ที่ 197,020 คัน เพิ่มขึ้น 3.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยมีความต้องการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่และรองรับยอดจองรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์เดือนธ.ค. ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ 11 เดือนปีนี้อยู่ที่ 1,998,339 คัน เพิ่มขึ้น 9.1%
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับปีนี้มั่นใจว่ายอดส่งออกรถยนต์จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 1.1 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9 แสนคัน
วันเดียวกัน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.2561 อยู่ที่ 93.9 จาก 92.6 ในเดือนต.ค.2561 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 66 เดือน โดยดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นมาจากทุกองค์ประกอบ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
“ดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยกว่าปกติในช่วงเดือนธ.ค. อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น อาหาร ยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ต้นทุนประกอบการลดลงจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจากเดือนต.ค.”นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 107.4 เพิ่มขึ้นจาก 106.7 ในเดือนก่อน สะท้อนว่าผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งในช่วงเดือนก.พ.2562 จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอให้ภาครัฐใช้โอกาสจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าที่ทั้ง 2 ประเทศมีข้อพิพาท ขณะที่ผู้ประกอบการควรปรับตัว โดยเน้นขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออก 25% ของการส่งออกไทย รวมทั้งขอให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันการสวมสิทธิสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น