ระหว่างที่ยังเป็นข้อถกเถียงกัน ในเรื่องว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ส่วนของ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 76 ปี ซึ่งล่าสุดทาง กรุงเทพมหานครได้ออกมาขอรับผิดชอบในการดูแลพื้นที่ตรงนี้แล้ว แต่ก่อนที่จะมีการบูรณะ ต้องได้รับการเห็นชอบจากหน่วยงานหลายฝ่ายก่อน
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่อยู่คู่คนไทยมาหลายยุค หลายสมัย มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่หลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบ ทีมข่าวไบรท์ออนไลน์ขอรวบรวม 8 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาให้ได้ติดตามกัน
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอยู่คู่คนไทยมาแล้วกว่า 76 ปี โดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485
- ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คือคนเดียวกันที่ออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งออกแบบโดย หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิกประจำกรมโยธาธิการ ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ และตึกสันติไมตรีหลังนอก ภายในทำเนียบรัฐบาล
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน และยังเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิต ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี มีแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483-พ.ศ. 2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ทำพิธีเปิดในวันเดียวกัน ห่างกันแค่ 2 ปี โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ซึ่งวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ในสมัยนั้นถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากใน วันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็น ราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลในขณะนั้น ยึดถือเอาเป็นวันสำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ทั้ง 2 แห่งนี้อีกด้วย
- รูปร่างของอนุสาวรีย์มาจากดาบปลายปืน 5 เล่มประกบกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส


- รูปปั้นทหาร 5 คน มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าคนธรรมดา เป็นตัวแทนของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเปิดให้เข้าชมปีละครั้ง นั่นก็คือวันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และครอบครัวของทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ จะจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเปิดโอกาสให้ทหาร และ ครอบครัวทหารผู้ล่วงลับ เข้าไปกราบไหว้ แสดงความรำลึกถึงทหารผู้ที่จากไป
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของถนนพหลโยธิน ไปยังภาคเหนือ หากดูตามข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ หลักกิโลเมตรที่ 0 ของไทย จะเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ จุดที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะนับเป็นกิโลเมตรที่ 5 แต่ว่าเวลานับระยะทางของถนนพหลโยธิน ไปยังภาคเหนือ จะเริ่มนับที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นกิโลเมตรที่ 0

แหล่งข้อมูล
https://www.m-culture.go.th/young/ewt_news.php?nid=179&filename=index
https://pantip.com/topic/37630609
https://pantip.com/topic/36410341
https://th.wikipedia.org/wiki/อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ