กกต.เตรียมยกร่างระเบียบ หาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย

กกต.เตรียมยกร่างระเบียบหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย หวั่นกองแช่งใส่ร้ายผู้สมัคร ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองรุมซักกรณีตั้งสาขาพรรคทุกจังหวัด จี้เร่งอนุมัติตั้งพรรคการเมือง

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในส่วนของการหาเสียงทางโซเซียลมีเดียผ่านช่องทางเฟชบุ๊กหรือไลน์ นั้น กกต.อยู่ระหว่างยกร่างระเบียบว่าด้วยการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาเหตุที่ต้องออกระเบียบฉบับนี้ เนื่องจากในการหาเสียงจะทั้งกองเชียร์และกองแช่ง ซึ่งกองแช่งมีมากกว่าอาจทำให้มีผู้อื่นเข้ามาใส่ร้ายได้

“ข้อความในการหาเสียงทางโซเซียลมีเดีย หลักการคือ ห้ามใส่ร้าย สัญญาว่าจะให้ หรือซื้อเสียง ถ้าพบข้อความไม่เหมาะสม กกต.จะขอให้ลบ ถ้าไม่ลบ กกต.ก็จะลบให้ และตามที่รู้กันดีว่าเฟชบุ๊กถูกปลอมเยอะ ซึ่งผู้ถูกแอบอ้างไม่รู้เรื่องเลย กกต.มีเจ้าหน้าที่เทคนิคคอยตรวจสอบ ซึ่งดิจิตอลสามารถสืบค้นไปถึงต้นทางได้”พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว

ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. ได้ชี้แจงตัวแทน 59 พรรคการเมืองและ 84 กลุ่มการเมือง เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรคการเมือง ว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/61 ทำให้การตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครแตกต่างไปจากเดิม คือจากที่พรป.พรรคการเมือง สมาชิกเลือกผู้สมัครขึ้นมา กลายมาเป็นตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมาเลือกผู้สมัคร แต่รายละเอียดการปฏิบัติทุกอย่างยังเหมือนเดิม

“การจะเป็นผู้สมัครในจังหวัดหรือเขตใด สมาชิก ตัวแทนสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นๆเป็นผู้ให้ความเห็น ดังนั้น ถ้าส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศ อย่างน้อยก็ต้องมีการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมืองประจำจังหวัดๆละ 1 คน หรือ 1 สาขา เพราะตามคำสั่งคสช.ที่ 13 กำหนดว่า ในการสรรหาผู้สมัครของพรรค คณะกรรมการสรร้าพิจารณาในการสรรหาด้วย”นายแสวง

นายแสวง กล่าวถึงแนวทางการหาสมาชิกพรรคการเมือง โดยยอมว่า ยังมีปัญหาอุปสรรค ซึ่งสำนักงานกกต.เตรียมทำข้อหนังสือถึงคสช.เพื่อขอให้กำหนดแนวทางให้ชัดเจนขึ้น เพราะแต่พรรคจะต้องหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาและหัวหน้าสาขาพรรค ซึ่งในกรณีที่จะส่งผู้สมัครทั่วประเทศต้องมีสมาชิก 7,700 – 10,000 คน โดยขณะนี้ยังตอบได้ไม่เต็มร้อยว่าทำได้แค่ไหน

“การใช้โซเซียลมีเดียติดต่อกับสมาชิกนั้น จะทำได้ในประเด็นที่มีการคลายล็อกตามคำสั่งคสช.ที่ 13/61  และการติดต่อทางธุรการเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นยังถือว่าเข้าข่ายต้องห้ามตามคำสั่งคสช.ที่ 57/57 ส่วนในเรื่องการหาเสียง กกต.ยอมรับว่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่สงบเรียบร้อยอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงาน ดังนั้น กกต. ทำได้แค่อธิบายไม่ให้เดินมาใกล้เหว”นายแสวงกล่าว

หลังจากนั้น กกต.เปิดโอกาสให้ผู้แทนพรรคการเมืองซักถาม โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล  ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถามว่า การชี้แจงของกกต.ว่าต้องมีตัวแทนสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ตนเองเห็นว่าไม่ตรงกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/61 และมองว่าคำสั่งดังกล่าวไปยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/60 ในประเด็นเงื่อนไขการส่งผู้สมัครที่ว่าต้องมีสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำ

นอกจากนี้ คำสั่งที่ 13/61 ยังบอกว่าการจัดทำสาขาพรรคต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง คือวันที่ 14 ก.ย.61 ดังนั้น ก่อนวันที่ 14 ก.ย.62 จึงไม่จำเป็นต้องตั้งสาขาพรรคให้เสร็จก่อนก็ได้

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62 พรรคการเมืองสามารถจัดส่งผู้สมัครได้โดยไม่ต้องมีสาขาพรรคครบทุกจังหวัด ขณะเดียวกันคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/61 ยังไปยกเลิกมาตรา 47 ของบทเฉพาะกาล เท่ากับว่าพรรคไม่ต้องมีตัวแทนประจำจังหวัด แต่เขียนไปเขียนมาก็ไปพันกันว่า คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครต้องฟังสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสมาชิก

“ผมอ่านกฎหมายวนไปมาเป็น 10 รอบ เข้าใจว่ากกต.ตีความกฎหมายผิด พรรคเพื่อไทยทำหนังสือสอบถามกกต.มา 3 สัปดาห์แล้วว่า กกต.ตีความอย่างไร แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้คำตอบ ก็ไม่รู้ว่าที่รองฯแสวงพูดเป็นมติกกต.แล้วหรือยัง”นายชูศักดิ์กล่าว

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ผู้แทนพรรคชาติพัฒนา ได้แสดงความเห็นสนับสนุนนายชูศักดิ์ พร้อมระบุว่า รัฐธรรมนูญม. 45 กำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะฉะนั้นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ก็น่าจะรับฟังความเห็นจากสมาชิกเพียงอย่างเดียวก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้ว

นายแสวงชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้รับฟังความเห็นจากสมาชิกอย่างกว้างขวาง จึงต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก กกต.ยังไม่มีมติ แต่คงจะเป็นไปตามแนวทางที่ได้ชี้แจง หากมีหนังสือตอบพรรคเพื่อไทยก็จะทำหนังสือเวียนให้ทุกพรรคการเมืองทราบเช่นกัน

ด้านนายปิยะบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องให้กกต.พิจารณารับรองการจัดตั้งพรรคการเมืองให้กับกลุ่มการเมืองทั้ง 119 กลุ่มโดยเร็ว เพราะจากการศึกษาค่าเฉลี่ยที่กกต.อนุมัติรับรองพรรคการเมืองอยู่ที่ 97 วันหรือ 2 เดือนเศษ  หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 กพ.62 หรือยืดออกไปในเดือน พ.ค .62  กกต.ก็คงอนุมัติไม่ทัน และพรรคยังต้องหาสมาชิกซึ่งอย่างน้อย 7,700 -10,000  คน

ในขณะที่คำตอบของนายแสวงไม่สามารถให้คำยืนยันว่า ระยะเวลาของกกต.จะทำให้พรรคหาสมาชิกได้ทันหรือไม่ ให้คำตอบในทำนองว่าไปลุ้นเอาเอง หรือไปตายเอาดาบหน้า

“ผมเข้าใจว่าอุปสรรคต่างๆ ไม่ได้เกิดจากกกต.แต่เกิดจากคสช. ที่ออกคำสั่งต่างๆเกี่ยวกับพรรคการเมืองโดยไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ปฏิบัติและพรรคการเมือง เราจะไม่ต้องมาเสียเวลาพูดถึงปัญหาเหล่านี้เลย ถ้าคำสั่งเหล่านี้ไม่มีอยู่หรือถูกยกเลิกไป จึงอยากให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และกกต. ช่วยกันแสดงความเห็นให้คสช.ปลดล็อกทั้งหมด”นายปิยะบุตรกล่าว

นายแสวง ชี้แจงว่า กกต.พยายามเร่งรัดรับรองการจัดตั้งพรรคการเมือง กรอบเวลา 45 -60 วัน อยู่ในมือกกต.ไม่ถึง 2 สัปดาห์ และกำชับมาตลอดให้กลุ่มการเมืองทำงานธุรการมาให้เรียบร้อย ถ้าทำเอกสารเรียบร้อยก็เสร็จเร็ว โดยเฉพาะเลขประจำตัว 13 หลักต้องตรง

นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนพรรคการเมืองแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ การยกเลิกเกณฑ์ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการเลือกตั้ง หรือถ้ายุบสภาฯใช้เวลา 30 วันในการสังกัดพรรค หากสภาฯครบวาระต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน กรณีคสช.ยึดอำนาจต้องสังกัดพรรคภายในกี่วัน

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า