“ธนาธร” แจง 3 เหตุผลควรหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ “คสช.” ชี้ใช้เงินภาษีประชาชนอุ้มกลุ่มนายทุน ออกกฎหมายลิดรอนอำนาจท้องถิ่น พร้อมลิดรอนเสรีภาพประชาชน จี้พรรคการเมืองย้ายขั้วจาก “พปชร.”
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวในประเด็น “3 เหตุผลที่ควรหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช.” โดยระบุว่า ประการแรก คสช.ใช้ภาษีของประชาชนอย่างมหาศาลเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิด คสช. เช่น กรณีของการบินไทย โดยผลักดันให้การบินไทยเช่าหรือซื้อเครื่องบิน 38 ลำ มูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท ทั้งๆที่การบินไทยขาดทุนสะสมมาอย่างยาวนานและมีหนี้สินสะสมแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น คสช.เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และยืดการชำระหนี้ของกลุ่มทุนโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 ราย ซึ่งทั้งสองกรณีคิดเป็นมูลค่ากว่า 23,664 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน หลังจากสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินฉบับเดิมกำลังจะหมดอายุลง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้มีการออก TOR เพื่อให้กลุ่มทุนเดิมได้เปรียบ เช่น การให้คะแนนความสามารถด้านเทคนิคมากกว่าผลประโยชน์ที่จะส่งให้รัฐ, การให้สิทธิสัมปทานยาวนานถึง 10 ปีและต่อได้ถึง 14 ปี และเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลประโยชน์ที่ประเทศได้จากค่าธรรมเนียมสัมปทานน้อยกว่าสนามบินชั้นนำอื่นๆถึงครึ่งต่อครึ่ง
นอกจากนี้ กรณีให้สัมปทานรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน แก่กลุ่ม CP ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่น่าสงสัย เช่น การประมูลที่รวมการพัฒนาที่ดินรอบสถานี โดยเฉพาะที่ดินผืนใหญ่ผืนสุดท้ายใจกลางกรุงเทพมหานคร คือ ที่ดินมักกะสัน, การให้เอกชนออกเงินน้อยกว่ารัฐ, และการที่เงื่อนไขสัญญาและการเจรจาทั้งหมดถูกปิดเป็นความลับ โดยมีข้อมูลหลุดออกมาว่าข้อเสนอเพิ่มเติมในซองที่ 4 เต็มไปด้วยข้อเสนอหลายประการที่จะทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์
ประการที่สอง หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไม่นาน ได้มีการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับที่มีผลบั่นทอนการกระจายอำนาจ เช่น การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจเรียกชี้แจง แนะนำ ตักเตือน สั่งเพิกถอนการกระทำ หรือให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ได้
ตลอดจนการทำลายความเป็นอิสระของท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้การบริการสาธารณะและการเบิกจ่ายงบประมาณต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย และการลดความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น การกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีอายุขั้นต่ำ 35 ปี, ลดสมาชิกสภา อบต.เหลือหมู่บ้านละ 1 คน, การยกเลิกตำแหน่ง สข., และผู้บริหารอปท.รูปแบบพิเศษไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
“ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต่างพูดเรื่องการกระจายอำนาจและการลดอำนาจราชการรวมศูนย์ แต่ที่น่าสังเกตคือทุกวันนี้พรรคการเมืองที่พูดเรื่องเหล่านี้หลายพรรค กลับจะไปร่วมรัฐบาลกับกลุ่มคนที่ออกนโยบายผลักดันการรวมศูนย์อำนาจ ตนจึงต้องทวงถามไปที่พรรคการเมืองเหล่านี้ว่าตกลงแล้วพวกคุณสนับสนุนการกระจายอำนาจจริงหรือไม่”นายธนาธรระบุ
ประการที่สาม เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการออกกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่มีผลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และการแก้ไข พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถเจาะระบบเข้าดูข้อมูลของประชาชนได้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งการตีความคำว่าภัยความมั่นคง เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถตีความได้อย่างแทบจะอิสระ
นายธนาธร กล่าวว่า การกระทำของรัฐบาล คสช.ทั้ง 3 ประการดังกล่าว เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงธาตุแท้ของ คสช. เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง ทั้งการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน การออกกฎหมายท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับ และการออกและแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ สิ่งที่ตนอยากฝากให้ทุกคนช่วยจับตามองเป็นพิเศษ ก็คือกรณีของสัญญาสัมปทานที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหลายตัว อาจจะมีการเซ็นสัญญาก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเร็วๆนี้
“จะเห็นได้ว่า คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกำลังจะจัดตั้งรัฐบาลกันในนามของพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกนโยบายส่งผลเสียหายต่อชาติบ้านเมือง การนำภาษีของประชาชนไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพวกพ้อง การรวบอำนาจเข้าสู่รัฐราชการรวมศูนย์ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงขอทวงถามไปถึงพรรคการเมืองต่างๆที่กำลังจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ว่านี่คืออนาคตของประเทศที่พวกคุณต้องการใช่หรือไม่”นายธนาธรกล่าว