รฟท.เผยเอกชนส่งคำถาม 668 ข้อ ให้ภาครัฐตอบ ก่อนยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมเตือนนักลงทุนถูกปรับตก เหตุยื่นเอกสารผิดพลาด
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (24 ก.ย.) รฟท.จัดประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” เป็นครั้งที่ 2 โดยได้เปิดให้เอกชนที่ซื้อซองเข้าร่วมประมูลโครงการทั้ง 33 ราย สอบถามข้อมูลและข้อสังสัยต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติม ก่อนจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 – 15.00 น.
“ในส่วนของการยื่นข้อเสนอลงทุนนั้น รฟท.ย้ำกับนักลงทุนทั้ง 31 ราย ให้ตรวจสอบรายละเอียดเอกสารให้ครบถ้วนตามทีโออาร์กำหนด เพราะเป็นห่วงว่าจะยื่นไม่ครบถ้วน และถูกปรับตก ซึ่งที่ผ่านมา มักพบบางราย ฝีมือดี แต่ตกเพราะยื่นเอกสารไม่ครบหรือผิดพลาด เช่น เอกสารที่ให้ส่งต้นฉบับ แต่ส่งตัวก๊อปปี้มา หรือ สะกดชื่อผิด เป็นต้น”นายวรวุฒิกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับคำถามจากเอกชนจนถึงวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าเอกชนส่งคำถามหรือข้อสงสัยต่างๆเข้ามา 668 คำถาม ทั้งคำถามด้านเทคนิคทั่วไป การเงิน การลงทุน ร่างสัญญาร่วมลงทุน การก่อสร้าง การเดินรถ รวมไปถึงข้อกำหนดในด้านต่างๆของรฟท. เช่น การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี งานโยธา งานระบบรถไฟ และเทคโนโลยี ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ได้ชี้แจงคำถามชุดแรกไปแล้ว 314 คำถาม หรือคิดเป็น 50%
“คณะกรรมการร่วมทุนฯ จะเร่งตอบคำถามชุดที่ 2 ที่เหลืออยู่ 354 คำถาม โดยจะเปิดรับคำถามเพิ่มเติมจากเอกชนไปจนถึงวันที่ 9 ต.ค.นี้ และจะตอบคำถามให้เสร็จภายในวันที่ 28 ต.ค. ก่อนจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันจันทร์ที่ 12 พ.ย.นี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนม.ค.2562 ส่วนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตอนนี้ได้ทำคู่ขนาน ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติในเดือนม.ค.ปีหน้าเช่นกัน”นายวรวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ เอกชนที่ชนะการประมูลมีเวลาในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย “พญาไท-ดอนเมือง” เป็นเวลา 5 ปี และเปิดบริการในปี 2566
นายวรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนนั้น รฟท.จะเริ่มส่งมอบพื้นที่ไม่ติดปัญหาใด เช่น พื่นที่ตามแนวเขตทางรถไฟ ที่ดินสถานีรถไฟมักกะสัน ส่วนพื้นที่ที่ต้องมีจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น รฟท.อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายเวนคืนที่ดิน เช่น พื้นที่ในจ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 300 ไร่ ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและจอดรถไฟฟ้า (DEPO) ส่วนอาคารสถานีมักกะสัน แอร์พอร์ตลิงก์ จะแบ่งการส่งมอบเป็นส่วนๆ
นายวรวุฒิ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง และรถไฟทางคู่สายใหม่อีก 1 เส้นทาง ว่า รฟท.จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันในปีนี้ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปี 2562 ซึ่งขั้นตอนในการประมูลจะใช้รูปแบบเดียวกันการประมูลรถไฟทางคู่เฟสแรก คือ ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของซุปเปอร์บอร์ดเพื่อความโปร่งใส เมื่อได้ผู้ชนะแล้วคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2562
ส่วนการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่แปลงเอ พื้นที่ 36 ไร่ มูลค่าโครงการประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นายวรวุฒิ กล่าวว่า รฟท.อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปลายปีนี้ กำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2564
นอกจากนี้ รฟท.เตรียมเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งเป็นรถไฟเส้นทางที่รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นร่วมมือกัน และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หัวหิน ให้ที่ประชุมครม.พิจารณาภายในปีนี้