ศาลปกครอง เลื่อนมีคำสั่งเยียวยาฯ ลูกค้า “ดีแทค” หลังสัมปทานคลื่น 850 MHz ระบุขอฟังมติบอร์ดกสทช.ก่อนว่ามีมาตราการคุ้มครองฯหรือไม่
วันนี้ (11 ก.ย.) ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในคดีหมายเลขดำที่ 1802/2561 ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ขอให้เพิกถอนมติบอร์ดกสทช.ครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561
ทั้งนี้ มติบอร์ดกสทช.ดังกล่าว กำหนดเงื่อนไขให้ดีแทคต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz จึงจะได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการคลื่น 850 MHz ด้วยการเปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว หลังสัมปทานสิ้นสุด 15 ก.ย. 2561 ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556
หลังใช้เวลาไต่สวนกว่า 4 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า ศาลฯจะรอผลการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 12 ก.ย. 2561 ว่า จะมีมติให้ดีแทคได้สิทธิ์เยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานหรือไม่ หากดีแทคได้สิทธิ์ ศาลจะจำหน่ายคดีออกจากระบบ แต่หากบอร์ดกสทช.มีมติไม่ให้เยียวยาตามประกาศฯ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีต่อไป
นายวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย ดีแทค ระบุว่า ทางดีแทคได้ชี้แจงต่อศาลปกครองกลางใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.ดีแทคและผู้ใช้บริการของดีแทคมีสิทธิตามกฎหมายในการได้รับความคุ้มครองให้เข้าสู่มาตรการเยียวยาฯ ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเพื่อให้ผู้ใช้บริการยังคงใช้บริการมือถือได้อย่างต่อเนื่องจนกว่า กสทช. จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านที่หมดสัมปทานลงให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ได้แล้วเสร็จ
2.ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้จัดสรรคลื่นความถี่ย่านที่ดีแทคใช้อยู่คือย่าน 850 MHz แต่กลับไปจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยมีเงื่อนไขที่เป็นที่วิพากษ์ในวงกว้างถึงความเหมาะสม จนทำให้ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล
3.ดีแทคขอเรียนว่าเมื่อไม่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz และการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ก็ไม่มีผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ที่สร้างโครงข่ายรองรับผู้ใช้บริการในระบบ 850 MHz ผู้ใช้บริการย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองให้ใช้บริการมือถือต่อไปตามกฎหมายเพื่อการโอนย้ายเครือข่าย ทั้งนี้ไม่เกิน 1 ปีหรือจนกว่าจะมีผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ในคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz
และ4.ผู้ประกอบการรายอื่นก็เคยได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมาแล้วในอดีตเมื่อสัมปทานของผู้ประกอบการมือถือรายนั้นสิ้นสุดลง โดยยังไม่มีผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ในคลื่นที่หมดสัมปทาน ส่วนมติ กสทช. ที่มีผลให้ผู้ใช้บริการของดีแทคไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ แต่ให้ความคุ้มครองแก่การหมดสัมปทานของผู้รับสัมปทานรายอื่นนั้น ดีแทคได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการตามที่กฎหมายบัญญัติ
“ดีแทคขอเรียนว่ากฎหมายฉบับเดียวกัน ต้องใช้บังคับกับทุกคนอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน บุคคลใดก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการของดีแทค เอื้อประโยชน์ให้บางราย ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง และดีแทคจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”นายวีพันธ์กล่าว