“พาณิชย์” อนุญาติต่างด้าวลงทุนไทยเพิ่ม 19 ราย ส่งผลให้ 9 เดือนยอดอนุญาติอยู่ที่ 197 ราย เงินลงทุนแตะ 8.7 พันล้านบาท พุ่ง 39% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวจำนวน 19 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย วงเงินลงทุนรวม 234 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น, เยอรมนี, และมาเลเซีย ขณะที่การอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจดังกล่าว จะก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย 293 คน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม 9 ราย เงินลงทุน 118 ล้านบาท ได้แก่ บริการตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนยางซิลิโคนสำหรับอุตสาหกรรม บริการให้คำปรึกษาและแนะนำ บริการรับจ้างผลิตปะเก็นและชิ้นส่วนป้องกันความร้อนสำหรับยานยนต์ บริการให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา บริการให้เช่าที่ดิน บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่อาคารจอดรถ บริการทางบัญชี บริการให้กู้ยืมเงิน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และสิงคโปร์
2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า 4 ราย เงินลงทุน 26 ล้านบาท ได้แก่ บริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับงานโครงข่ายโทรคมนาคม บริการให้ใช้ช่วงสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ บริการติดตั้ง ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมการใช้งานเครื่องจักรและแม่พิมพ์ที่ใช้ฉีดเคลือบพลาสติกบนแผงวงจรกึ่งตัวนำ บริการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และลิกเทนสไตน์
3.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ 1 ราย มีเงินลงทุน 9 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับห่อซองบุหรี่ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์
4.ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง 5 ราย มีเงินลงทุน 81 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์ สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การค้าปลีกเครื่องมือและอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติสำหรับตรวจสอบและควบคุมความปลอดภัยและการทำงานของเครื่องจักรอุตสาหกรรม การค้าปลีกเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนในการผลิตและแปรรูปยาง พอลิเมอร์ อีลาสโตเมอร์ พลาสติกและยางรถยนต์ การค้าปลีกอะไหล่เครื่องจักรที่ใช้ผลิตถุงกระสอบ เครื่องจักรที่ใช้สำหรับรีไซเคิลพลาสติก และเครื่องจักรผลิตแผ่นพลาสติก การค้าส่งเครื่องถ่ายเอกสารแบบอเนกประสงค์ เครื่องพิมพ์บาร์โค้ด เครื่องสแกนและอ่านบาร์โค้ด โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี
นางกุลณี กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย.2561 มีคนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต 197 ราย ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเงินลงทุนอยู่ที่ 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบทางวิศวกรรมและติดตั้งเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ฯลฯ