ครม.อนุมัติงบ 461 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้เกษตรกรปลูกข้าวโพด ไร่ละ 2 พันบาท ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยเพียง 0.01% พร้อมหาพ่อค้ารับซื้อให้ด้วย
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 ก.ย.) มีมติเห็นชอบโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 2,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย หรือไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย และคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เป็นเวลานาน 6 เดือน
“ครั้งนี้ไม่ได้ให้เงินให้เปล่าไร่ละ 2,000 บาท เหมือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลจะให้สินเชื่อ ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย และให้ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยจากพี่น้องเกษตรกร 0.01% ส่วนที่เหลืออีก 3.99% รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือคิดเป็นงบประมาณเพียง 461 ล้านบาท ต่างจากเดิมที่รัฐบาลจ่ายเงินให้เกษตรกรแบบฟรีๆ ไร่ละ 2,000 บาท ใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท”พล.ท.สรรเสริญกล่าว
สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นผู้ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ต้องมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. เป็นต้น โดยมีพื้นที่เป้าหมายใน 33 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จ.กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ ลำพูน นครสวรรค์ สุโขทัย ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ น่าน พิจิตร และอุทัยธานี
ภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ นครพนม บุรีรัมย์ หนองคาย สกลนคร ศรีษะเกษ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท และสระบุรี และภาคตะวันออก ได้แก่ ปราจีนบุรี รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่จะทำโครงการต้องอยู่ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีศักยภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ให้รับซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ดังนั้น หากเกษตรกรปลูกข้าวโพดได้ตามกติกา จะมีกำไรตันละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวแล้วต่างกันมาก ขณะที่ในแต่ละปีผู้ประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์ต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน แต่ไทยสามารถผลิตได้ปีละ 4 ล้านตันเท่านั้น จึงยังมีความต้องการอีก 4 ล้านตัน
“นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ระบุว่า จะมีรายการสั่งซื้อข้าวโพดเข้ามาก่อนที่จะกำหนดว่าจะปลูกในพื้นที่ไหน เท่าไหร่ ดังนั้น ยืนยันได้ว่าข้าวโพดที่ปลูกไปแล้วสามารถจำหน่ายได้ครบทั้งหมด นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯได้ขอเรื่องการประกันภัยความเสี่ยงหากข้าวโพดเสียหายให้กับเกษตรกรในราคา 65 บาทต่อไร่ เป็นงบประมาณ 130 ล้านบาท ”พล.ท.สรรเสริญกล่าว
พล.ท.สรรเสริญ ยังกล่าวด้วยว่า วิธีการแก้ปัญหาไม่ให้ราคาข้าวตกนั้น คือ การทำให้เกษตรกรไม่ฝากชีวิตไว้กับการปลูกข้าว แต่ให้ปลูกพืชชนิดอื่นที่ตลาดต้องการ และอยู่ในพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง และมีรายได้ดีกว่าปลูกข้าว
“นี่คือความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งระบบ ไม่ใช่ลักษณะที่ใครอยากปลูกข้าวก็ปลูกตามอำเภอใจ แล้วซื้อทุกเมล็ด จำนำทุกเมล็ด เราไม่ทำแบบนั้น”พล.ท.สรรเสริญกล่าว