กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ห่วงแบงก์แข่งปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง สั่งจับตา “คอนโด” ค้างสต๊อก-พฤติกรรมก่อหนี้ครัวเรือน
วันนี้ (19 ก.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่มองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี
ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นว่าความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% ต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน
“ที่ประชุมกนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน”
ทั้งนี้ กนง.คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2561 ว่าจะเติบโตที่ 4.4% เท่ากับประมาณการเดิม ส่วนการส่งออกเติบโต 9% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 0.7% และปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 4.2% การส่งออกเติบโต 4.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.8%
ส่วนผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จะทำให้การส่งออกของไทยเติบโตลดลง แต่ไทยจะได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมายังไทย
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลต่อภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง รวมทั้งให้ติดตามภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่ ตลอดจนพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ