สถิติข่าวความรุนแรง ปี 61 พุ่ง แค่ 7 เดือนเกือบ 400 ข่าว ปืนถูกใช้เป็นอาวุธหลักในการทำร้าย 4 ผู้เห็นเหตุการณ์ทำร้ายกัน94% เมินให้การช่วยเหลือ
จากการเสวนา “จับสัญญาณอันตรายความตายความรุนแรงในครอบครัว 2018” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้เปิดเผยการเก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว จากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ปี 2561 พบว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ได้เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาเป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว
เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกในรอบ 4 เดือน พบว่ามีข่าวฆ่ากันตายเฉลี่ยประมาณเดือนละ 20 ข่าว ส่วนปัจจัยกระตุ้นพบว่ามาจากสุราและยาเสพติด ที่น่าห่วงคือ อาวุธที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด ได้แก่ ปืน รองลงมาเป็นมีด ของใช้ใกล้มือ ไม้ ค้อน เมื่อลงลึกถึงมูลเหตุที่ลงมือ พบว่า บันดาลโทสะ หึงหวง และมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากพบว่านี้ร้อยละ 94.9 ของผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรงเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือ
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปากฎการณ์ทำร้ายร่างกาย ฉุดกระชากลากถู ตบตีในพื้นที่สาธารณะมีให้เห็นมากขึ้น สถิติลงมือฆ่ากันตาย เป็นสัญญาณอันตราย ทั้งความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย รวมถึงโครงสร้างสังคมยังกำหนดความไม่เท่าเทียมผ่านสถาบันครอบครัว การศึกษา ระบบเครือญาติ การเมือง และศาสนา สะท้อนให้เห็นว่า
1. ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายยังมีวิธีคิดและทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดแสดงออกผ่านพฤติกรรมความหึงหวง บันดาลโทสะ
2.การผลิตซ้ำวาทกรรม “ชายเป็นใหญ่” ทั้งปรากฏอย่างชัดเจนและแฝงเร้น เช่น เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องลิ้นกับฟัน อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน เมื่อเขาคืนดีกันเราจะเป็นหมา เป็นต้น ส่งผลให้คนในสังคมไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือ และไม่กล้าเข้าไปแก้ปัญหา ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
น.ส.อังคณา กล่าวว่า สังคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของสังคมหรือสาธารณะชน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ให้ช่วยเหลือทั้งการแจ้งปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ หรือการเข้าไปช่วยเหลือด้วยตนเอง เป็นต้น รวมถึงการรณรงค์สร้างวัฒนธรรมให้เคารพเนื้อตัวร่างกายผู้อื่นซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยมูลนิธิและภาคีเครือข่ายเตรียมจะยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร็วๆนี้
น.ส.พลอย (นามสมมติ) อายุ 44 ปี ผู้ที่เคยประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า อยู่กินกับสามีมากว่า 20 ปี แรกๆสามีเอาใจดูแลดี หลัง ๆ เริ่มหึงหวงหาว่าคบชู้ พูดจาหยาบคาย อารมณ์ร้อน โมโหร้าย ลงไม้ลงมือทุบตีเป็นประจำ หนักสุดเคยถูกจับลามโซ่มาแล้วถึง 8 ครั้ง และหลายครั้งที่ใช้โซ่รัดคอ ให้อดข้าวอดน้ำ แม้เคยแจ้งความไปมากกว่า 10 ครั้ง ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ จึงต้องทนอยู่กับสภาพเดิม ๆ กระทั่งได้ขอความช่วยเหลือจากแกนนำชุมชนและมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งมีการทำงานที่เป็นระบบ เกาะติด ใช้กลไกตามกฎหมายที่มี จึงทำให้สามีเริ่มดีขึ้น อารมณ์รุนแรงหายไป ซึ่งเรื่องนี้ลูกสาวรับรู้มาตลอด และได้รับผลกระทบจากที่เป็นเด็กร่าเริง กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบ
“เราไม่ได้มีชู้ ที่กลับดึกเพราะต้องทำงานค้าขายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แม้ตอนนี้สามีจะปรับปรุงตัว หยุดใช้ความรุนแรงมาแล้ว 2 ปี แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฝังลึกในใจ และอยู่ด้วยความหวาดระแวง เพราะคำว่าครอบครัว เพราะคำว่าลูกมันทำให้เราไม่กล้าก้าวออกมา แต่คงเป็นโอกาสสุดท้าย หากเกิดขึ้นอีกคงต้องแยกทางกัน อยากฝากถึงทุกครอบครัวว่า การใช้ความรุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และผู้หญิงต้องกล้าที่จะปกป้องตัวเอง อย่ายอมเป็นสมบัติของฝ่ายชาย ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง อย่าไปหวังพึ่งผู้ชายฝ่ายเดียว” นางสาวพลอย (นามสมมติ) กล่าว
น.ส.แพรวดาว ศิวภูวดลพิทักษ์ หรือ เอิร์น พลเมืองดีที่เข้าไปช่วยเหลือหญิงสาวที่ถูกคนรักซ้อมโหด ทั้งใช้หมวกกันน็อกฟาด กระทืบจนเจ็บหนัก ตามที่ปรากฏเป็นข่าวดังเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า เป็นจังหวะที่ต้องตัดสินใจเข้าไปช่วยน้องผู้หญิง เพราะถ้าไม่เข้าไป น้องต้องถูกซ้อมอีก และไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ล่าสุดได้ไปเยี่ยมและให้กำลังใจน้องที่โรงพยาบาล อาการผ่าตัดดีขึ้น แต่แม่ของน้องยังร้องไห้ตลอดเวลารับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนตัวน้องเองยืนยันว่าจะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกันอีก ยิ่งตอนนี้คู่กรณีได้ประกันตัวออกมา ก็สร้างความหวาดระแวงให้คนในครอบครัวน้อง ซึ่งตนได้แนะนำให้น้องระมัดระวังตัวด้วย
“อยากให้กรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้กับสังคมช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งเฉย อย่าฝังใจว่ามันเป็นเรื่องของผัวเมีย เรื่องของแฟนกันเราอย่าไปยุ่ง หรือมองว่าการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งต้องปลูกฝังว่า คุณไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายใคร ต้องให้เกียรติ เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายจิตใจ ส่วนบทลงโทษต้องเข้มงวดเอาจริงเอาจัง และอยากฝากให้ทุกคนมีสติในการใช้ชีวิต” น.ส.แพรวดาว กล่าว