ครม.เห็นชอบเปิดประมูล 4 โครงการในอีอีซี 4.7 แสนล้านบาท เร่งขายซองในพ.ย.นี้ ด้าน สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.ย.ติดลบครั้งแรกในรอบ 16 เดือน
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.เชียงราย มีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักงานอีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 5 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 6 แสนล้านบาท
ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งเปิดขายเอกสารการประมูลไปแล้ว และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย.นี้
ส่วนอีก 4 โครงการ 4.7 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ,โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 1.05 หมื่นล้านบาท ,โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่า 1.14 แสนล้านบาท และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 5.54 หมื่นล้านบาท ให้ประกาศทีโออาร์และเปิดให้เอกชนซื้อซองภายในเดือนพ.ย.นี้
นายอุตตม ยังกล่าวว่า คาดว่าภายในเดือน ก.พ.2562 จะได้เอกชนที่ชนะการประมูลทั้ง 5 โครงการ และเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท
นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน ก.ย.2561 ว่า อยู่ที่ 111.20 ปรับลดลง 2.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกของรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะการแปรรูปน้ำตาลทราย การผลิตทูน่ากระป๋อง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เป็นต้น
นายอิทธิชัย คาดว่า ดัชนีฯเดือนต.ค.จะเป็นบวก เนื่องจากฐานปีที่แล้วต่ำ โดยทั้งปี สศอ. มั่นใจว่าดัชนีฯจะเติบโต 2.5-3% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะเติบโต 3-4% ส่วนสงครามการค้าสหรัฐและจีน ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางที่ส่งออกไปยังจีน ด้านนักท่องเที่ยวจีน ที่ลดลงติดต่อกัน 3 เดือน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อดัชนีฯโดยตรง แต่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ