กรมขนส่งฯ เตรียมเสนอก.คมนาคม พิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ 2 แนวทาง ระบุให้สิทธิเฉพาะ “แท็กซี่ โอเค” เท่านั้น
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ กรมฯจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ในการออกร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับแนวทางการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรกให้คงอัตราค่าโดยสารตั้งต้น และอัตราค่าโดยสารตามระยะไว้ตามเดิม แต่ปรับเฉพาะค่ารถติด กรณีรถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่เกิน 6 กม./ชม จากนาทีละ 2 บาท เป็นนาทีละ 3 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่มีรายรวม 1,708 บาท/วันและมีรายได้หลักหักค่าใช้จ่าย 552 บาท/วัน
และแนวทางที่สอง ยกเลิกค่ารถติด และคิดค่าโดยสารตามระยะเวลาในการเดินทางรวม ในอัตรานาทีละ 1.50 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่มีรายได้รวม 1,648บาท/วัน และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 492 บาท/วัน
“ที่ปรึกษาเห็นควรปรับเป็นแนวที่ 1 เนื่องจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้รายน้อยกับการปฏิเสธผู้โดยสารได้”นายกมลกล่าว
นายกมล กล่าวว่า การปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ดังกล่าว จะให้สิทธิเฉพาะรถแท็กซี่มิเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการแท็กซี่ โอเค 12,986 คัน จากแท็กซี่มิเตอร์ในกรุงเทพฯ 80,647 คัน และหากแท็กซี่มิเตอร์คันใดต้องการปรับอัตราค่าโดยสาร ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการแท็กซี่ โอเค ซึ่งต้องติดตั้งระบบ GPS Tracking ,ระบบยืนยันตัวตนผู้ขับรถ ,กล้องบันทึกภาพในรถแบบ Snap Shot, ปุ่มฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุร้องเรียน
สำหรับสถิติการร้องเรียนรถแท็กซี่ผ่านทางสายด่วน 1584 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2560-30 ก.ย. 2561 มีเรื่องร้องเรียนถึง 48,223 เรื่อง สูงกว่าปี 2560 ที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 43,254 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก ได้แก่ การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ,แสดงกิริยาไม่สุภาพ ,ขับรถประมาทหวาดเสียว ,ไม่กดมิเตอร์ และไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง