เชื่อว่าในช่วงวันอาฬาหบูชาและวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนคงหาโอกาสทำบุญและทำกิจกรรมอันเป็นกุศลตามประเพณีนิยมของชาวพุทธกันถ้วนหน้า หลายท่านอาจมีคำถามถึงพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติกันมาว่าสิ่งที่ทำอยู่เหมาะสมและถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยเฉพาะการ ตักบาตร หลายคำถามเรามีคำตอบ ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำในการตักบาตร
ดอกไม้ ธูป เทียน
ดอกไม้ จะถวายหรือไม่แล้วแต่ศรัทธา โดยปกติดอกไม้ที่ได้รับบิณฑบาตมา พระสงฆ์จะนำไปบูชาพระพุทธรูปที่วัด ส่วนธูปเทียนนั้นมีความจำเป็นน้อย โดยเฉพาะเทียนเล่มเล็ก ๆ ที่จัดมาคู่กับธูปในกล่องพระสงฆ์แทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้เลย
น้ำ
หลายคนกังวลว่าในภพหน้าจะไม่มีน้ำดื่ม แต่ไม่มีความจำเป็นจะต้องใส่น้ำเมื่อใส่บาตร แม้พุทธศาสนาจะสอนให้เชื่อหลักกรรมแต่ไม่ได้หมายความว่าใส่บาตรด้วยน้ำจึงจะมีน้ำดื่มในชาติหน้า บุญกุศลเป็นเรื่องของความดีงามของกาย วาจา ใจ ที่เราทำ การใส่น้ำนอกจากเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว พระยังต้องถือกลับวัด ซึ่งวัดส่วนใหญ่มักมีระบบเก็บน้ำไว้ดื่มไว้ฉันอยู่แล้ว น้ำใส่บาตรเป็นขวดหรือแก้วเล็ก ๆ จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ปัจจัย
โดยพระวินัยแล้ว พระต้องไม่รับปัจจัย (เงิน) จากญาติโยมไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ และโยมก็ไม่ควรถวายปัจจัยแก่พระไม่เว้นแม้ขณะบิณฑบาต แต่ปัจจุบันไม่มีระบบดูแลอุปัฏฐากพระ เช่น ไม่มีโยมติดตามช่วยเหลือดูแลขณะที่ท่านเดินทาง หรือคอยจัดหาสิ่งจำเป็นให้ ขณะเดียวกันพระเณรก็มีกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น เช่น ไปศึกษาเล่าเรียนนอกวัด หรือใช้เมื่อเดินทาง พระจึงรับและถือปัจจัยไว้ใช้ส่วนตัว ส่วนญาติโยมก็คิดว่าการถวายปัจจัยท่านจะได้ซื้อของตรงที่ตรงกับความต้องการใช้ ซึ่งการรับปัจจัยของพระแต่ละรูปหรือแต่ละวัดอาจมีเงื่อนไขต่างกัน บางแห่งท่านจะไม่รับเลย หรือบ้างก็ให้มอบให้ลูกศิษย์ที่ตามมา การถวายปัจจัยจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามไม่ควรใส่เหรียญหรือธนบัตรลงไปปนกับอาหารในบาตร
ถวายสังฆทาน
โดยหลักการแล้วการใส่บาตรเป็นการถวายทานแบบจำเพาะเจาะจงต่อพระรูปที่เราใส่ ส่วนการถวายสังฆทานเป็นการตั้งใจถวายทานนั้นต่อสงฆ์ไม่จำเพาะว่าจะให้แก่ภิกษุรูปใด แม้ว่าขณะถวายสังฆทานนั้นอาจมีภิกษุเพียงรูปเดียวออกมาเป็นตัวแทนรับก็ตาม โดยทั่วไปแล้วเราไม่ควรถวายสังฆทานขณะใส่บาตร เนื่องจากการถวายมีหลายขั้นตอนต้องใช้เวลาพอสมควรทำให้ผู้ที่รอใส่บาตรต่อต้องเสียเวลารอนาน อีกทั้งการถวายสังฆทานมีอาหารและของบริวารที่ต้องนำกลับวัดจะเป็นการสร้างภาระให้พระภิกษุ ควรหาโอกาสถวายสังฆทานที่วัดโดยตรงจะเหมาะสมกว่า
สมุด ปากกา
บาตรของพระจะไว้รองรับเฉพาะอาหาร ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการออกบิณฑบาต คือรับอาหารจากญาติโยม การนำไปถวายที่วัดกับพระรูปที่จำเป็นจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะพระรูปที่เราใส่บาตรอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็ได้
ใส่บาตรเมื่อโอกาสต่างกันทำเหมือนกันหรือไม่
เมื่อเป้าหมายของการใส่บาตรคลาดเคลื่อนจากการฝึกตนให้รู้จักสละ รู้จักให้ เพื่อเกื้อหนุนพระภิกษู และบำรุงพระศาสนา ไปสู่การตอบสนองความอยากความต้องการให้ตนเองได้รับโชค รับชัย แคล้วคลาดจากอุบัติภัยต่าง ๆ การใส่บาตรในโอกาสที่ต่างกันจึงคาดหวังว่าควร ต้องมีอะไรที่ต่างกัน เช่น ตักบาตรในวันเกิด วันครบรอบการเสียชีวิตของบุพการี จุดสำคัญของการตักบาตรในโอกาสพิเศษเหล่านี้ จะที่การให้มีโอกาสทำสิ่งที่ดีงาม ได้พบกับผู้ทรงศีล ได้รับความสงบเย็น จึงไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างไปจากการตักบาตรตามปกติ
ข้อมูล : พระวิชิต ธมมชิโต วัดโพธิ์เผือก จ.นนทบุรี