“นายจ้าง” ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่ม 4.6% หวังให้เป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างยาม “เกษียณอายุ” ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินกองทุนฯพุ่งแตะ 1.1 ล้านล้านบาท โตจากปีก่อน 8%
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 14 ก.ย.2561 พบว่ามีนายจ้างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 788 ราย ส่งผลให้ในภาพรวมมีนายจ้างจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯรวมเป็น 17,866 ราย หรือเพิ่มขึ้น 4.61% ส่วนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนฯเพิ่มขึ้น 75,992 ราย รวมเป็น 3,015,729 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2.85%
ขณะที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาพรวม มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1,100,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 8% จากปีก่อน
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอัตราการเติบโตเนื่องเป็น ทำให้เห็นทิศทางที่ดีว่านายจ้างให้ความสำคัญกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะแม้ว่าเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนจะถือเป็นรายจ่ายของนายจ้าง แต่ก็เป็นสวัสดิการสำคัญที่นายจ้างดูแลลูกจ้างให้มีเงินออมอย่างเพียงพอเมื่อยามเกษียณ”นายรพีกล่าว
นายรพี ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีนายจ้างส่วนหนึ่งต้องการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ลูกจ้าง โดยการยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองเดิมที่มีนโยบายเดียว และย้ายไปยังกองทุนร่วมที่มีหลากหลายนายจ้างและหลากหลายนโยบายการลงทุน (master pooled fund) ซึ่งนอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีโอกาสเลือกนโยบายที่เหมาะสมกับช่วงอายุของตนเองแล้ว ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่นายจ้างในการบริหารกองได้อีกด้วย
“ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีนายจ้าง 10 ราย ทยอยย้ายไปลงทุนในกองทุนร่วม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 45 กองจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 383 กอง และยังพบว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทนโยบายสมดุลตามอายุ ที่ปรับสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยไตรมาส 2 ปีนี้ มีบริษัทจัดการลงทุน 7 แห่ง และนายจ้าง 239 ราย เสนอทางเลือกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบสมดุลตามอายุ คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สิน 6,087 ล้านบาท”นายรพีกล่าว
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเตรียมเปิดตัวโครงการ “บริษัทเกษียณสุข” ซึ่งจะส่งเสริมให้บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ร่วมสนับสนุนให้พนักงานมีเงินใช้อย่างเพียงพอในวัยเกษียณ โดยใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างวินัยในการออมแบบผูกพันระยะยาว เพื่อให้มีเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้ในการดำรงชีวิตเมื่อเกษียณอายุหรือลาออกจากงาน