กบง.อนุมัติ 2 โรงไฟฟ้านำน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตัน ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รัฐบาล-กฟผ.ลงขันอุ้ม 1,000 ล้านบาท พร้อมปรับสูตรน้ำมันดีเซลให้มีส่วนผสมไบโอดีเซล 6.9%
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายศิริ จิระพงษ์พันธุ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็น 6.9% จากเดิม 6.6% ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มอีก 80,000 ตัน/ปี โดยน้ำมันดีเซลสูตรใหม่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2561 เป็นต้นไป
พร้อมกันนั้น กบง.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตัน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าบางประกง เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้พร้อมดำเนินการ สำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น จะไม่มีการผลักภาระไปให้ประชาชนในรูปของค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft)
“จะมีการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากผู้ผลิตโดยตรงในราคา 18-19 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่จะไม่มีการผลักภาระให้ประชาชนในรูปของค่าเอฟที เนื่องจากรัฐบาลจะจัดสรรงบกลางเข้าไปชดเชยตรงนี้ 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 500 ล้านบาท จะเกลี่ยมาจากค่าสายส่ง โดยกฟผ.จะเข้ามารับภาระในส่วนนี้”นายศิริกล่าว
นายศิริ กล่าวว่า ที่ประชุมกบง.ยังรับทราบมาตรการของกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งได้ร่วมมือกับองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ทดลองใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี20 ในรถเมล์ของขสมก.และรถบขส. เป็นเวลา 1 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี20 ในเดือนพ.ย.อยู่ที่ 7 ล้านลิตร/เดือน และเพิ่มเป็น 20 ล้านลิตรในเดือนธ.ค.นี้
นายศิริ ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการเพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็น 6.9% จะทำให้การใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มเป็น 1.3 ล้านตัน/ปี ส่วนการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี20 ในรถประเภทต่างๆ จะทำให้การใช้น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 6 แสนตัน/ปี หรือรวมแล้วทั้ง 2 มาตรการ จะทำให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบ 1.9 ล้านตัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่อยู่ที่ 2.5 ล้านตัน/ปี