เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด สั่ง “รฟท.” จ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล้านบาท

เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด สั่ง “รฟท.” จ่ายเงินคืน “บ.โฮปเวลล์” 1.2 หมื่นล้านบาท ตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ชี้การฟ้องร้องคดียังอยู่ในอายุความ 5 ปี พร้อมระบุหลังรัฐเลิกสัญญาแล้ว “คู่สัญญา” กลับคืนสู่ฐานะตัวที่เป็นอยู่เดิม

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.) และให้ผู้ร้องทั้งสอง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด

กล่าวคือ ให้รฟท.จ่ายเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับค่าเสียหายจากถูกบอกเลิกสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์) และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท.เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี พร้อมทั้งให้คืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาทที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพให้แก่บริษัทฯนั้น

วันเดียวกัน เว็บไซด์ศาลปกครอง เผยแพร่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223-2562 (โฮปเวลล์) ระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ร้อง) กับ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) อันเป็นคดีที่ผู้ร้องทั้งสอง ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านร้องขอให้บังคับตามชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวเป็นเอกสารจำนวน 119 หน้า สรุปคดีได้ว่า

คดีดังกล่าวศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธไม่รับคำบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีนับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2551 ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากต้องนับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ และศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรพิจารณาคดีในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป

โดยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญา ห้ามผู้คัดค้านเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง ริบเงินค่าตอบแทนสัญญาและริบหลักประกันสัญญาประกัน แสดงว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น

และก่อนเสนอข้อพิพาท ผู้คัดค้านได้ขอให้ผู้ร้องทั้งสองระงับข้อพิพาท โดยเจรจาประนีประนอมยอมความ แต่ผู้ร้องทั้งสองเพิกเฉย ผู้คัดค้านจึงมีสิทธินำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ และเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

และคำชี้ขาดในประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านเสนอให้ระงับข้อพิพาทภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดจะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

ส่วนคำชี้ขาดที่ว่า การที่ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อผู้คัดค้านทันที โดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในสัญญา คือ ต้องให้ดำเนินการแก้ไขก่อน เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยยังไม่มีสิทธิ จึงไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน แต่ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือยืนยันหลายครั้ง และผู้คัดค้านขนย้ายออก และไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ

พฤติการณ์ของผู้ร้องทั้งสองมีเจตนาจะเลิกสัญญากับผู้คัดค้าน อันถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอเลิกสัญญา และการที่ผู้คัดค้านยืนยันปฏิบัติตาม จนถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของผู้ร้องทั้งสอง สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจะต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม

และวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจำนวน 2,840,000,000 บาท คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท เงินในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำชี้ขาดที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะตัวที่เป็นอยู่เดิม ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

และคำชี้ขาดที่ว่าผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายสัญญานั้น เมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสองในประเด็นต่างๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริง และการปรับใช้กฎหมายและข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยการปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งความรับผิดต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญา ไม่ได้มีลักษณะเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

กรณีจึงไม่ปรากฏเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดได้

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

อ่านเพิ่มเติม : คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223-2562 (โฮปเวลล์)  https://drive.google.com/file/d/1kW67F0YtJxlTmybM0iMjF-EgsUrQhYda/view

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า