“กรมเจ้าท่า” จับมือเอกชน นำเรือโดยสารไฟฟ้า 54 ลำ ออกวิ่งให้บริการเส้นทาง “ท่าน้ำนนทบุรี-ท่าน้ำวัดราชสิงขร” ปลายปี 62 ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันขานรับผลิตน้ำมันดีเซล “ยูโร 5” ภายในปี 2566 ลดฝุ่น PM 2.5
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯร่วมกับกรมเจ้าท่า (จท.) จัดทำโครงการเรือโดยสารไฟฟ้าเพื่อให้บริการประชาชนในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฟสแรก คือ ปลายปี 2562-ก.พ.2563 บริษัทฯจะนำเรือโดยสารไฟฟ้า 54 ลำ ทยอยออกให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ตั้งแต่ท่าน้ำนนทบุรี-ท่าน้ำวัดราชสิงขร ระยะทาง 20 กิโลเมตร ด้วยระยะเวลาไม่เกิน 40 นาที
“เรือโดยสารไฟฟ้าที่บริษัทฯจะนำมาวิ่งให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารทั้ง 54 ลำ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 1,000 ล้านบาทนั้น จะเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่เร็วกว่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน จะมีการเพิ่มรอบความถี่ในการให้บริการเป็นทุกๆ 5 นาที และบริษัทเตรียมหารือกับกรมเจ้าท่าเพื่อขยายเส้นทางเดินเรือในเฟสต่อไป”นายอมรกล่าว
สำหรับเรือโดยสารไฟฟ้าที่บริษัทฯจะนำมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารนั้น เป็นเรือที่ออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน และประกอบโดยคนไทยและในประเทศไทย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ของกลุ่ม EA ซึ่งเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยตัวเรือจะมีความกว้าง 7 เมตร ยาว 24 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 200 คน/ลำ ภายในเรือจะติดแอร์ เน้นความสะอาด และมีการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร โดยเรือจะโคลงเคลงน้อย และก่อให้เกิดคลื่นน้อยลง
นายอมร ยังกล่าวว่า การที่เรือโดยสารดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่ขนาด 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะทำให้ประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ขณะที่การเติมพลังงานไฟฟ้าจะใช้เครื่องชาร์จ EA Anywhere ซึ่งเป็นของคนไทยเช่นกัน
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า วันนี้ (13 ก.พ.) กระทรวงเชิญผู้ค้าน้ำมันและผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน เข้าหารือถึงมาตรการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากรถยนต์ โดยผู้ประกอบการโรงกลั่นทั้ง 6 ราย ระบุว่า พร้อมจะผลิตน้ำมันดีเซลให้ได้มาตรฐานยูโร 5 ภายในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้กระทรวงพลังงานจะออกมาตรการจูงใจ เพื่อทำให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลคุณภาพยูโร 5 ให้แพร่หลายมากขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางปรับลดสัดส่วนกำมะถันในน้ำมันดีเซล มาตรฐานยูโร 4 ให้เป็นมาตรฐานยูโร 4 พลัส ซึ่งผลศึกษาเบื้องต้นพบว่าการปรับสัดส่วนกำมะถันดังกล่าว จะสามารถลดฝุ่นละออง PM 2.5 จาก 50 PPM เหลือ 30 PPM ได้ ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานจะพิจารณาขยายมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลบี 20 ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาดีเซลทั่วไป 5 บาท/ลิตรออกไป จากเดิมที่มาตรการจะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ.นี้