ครม.เห็นชอบร่างกม.เดินอากาศ แก้ไข 16 ประเด็น เพิ่มมาตรการกำกับดูแลด้านบินให้ได้มาตรฐานสากล คาดประกาศใช้ก่อน ICAO เข้าตรวจสอบเดือนพ.ค.ปีหน้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 ก.ย.)มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมใน 16 ประเด็น เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยคาดว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะประกาศใช้ก่อน ICAO จะเข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลมาตรฐานด้านการบินของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในเดือนพ.ค.2562
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ ICAO ปลดธงแดงด้านการบินให้กับประเทศไทยตั้งแต่เดือนต.ค.2560 กทพ.ได้รายงานความคืบหน้าในการด้านการกำกับดูแลมาตรฐานด้านการบินให้ ICAO ทราบเป็นระยะๆ
สำหรับการปรับปรุงพ.ร.บ.การเดินอากาศ ทั้ง 16 ประเด็น ได้แก่ 1.การเพิ่มเติมบทนิยามเกี่ยวกับการบินพลเรือน 2.การปรับปรุงองค์ประกอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการบินพลเรือน 3.เพิ่มอำนาจให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน 4.การกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบการกิจการการเดินอากาศ 5.หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการขนส่งวัตถุอันตรายและสิ่งของต้องห้ามหรือต้องดูแลเป็นพิเศษ
6.การกำหนดการใช้ห้วงอากาศและการจัดทำแผนนิรภัยในการบินพลเรือน ซึ่งมีเรื่องนโยบายการใช้ห้วงอากาศแบบยืดหยุ่น 7.หลักเกณฑ์การรองรับอากาศยานต่างประเทศที่มีสัญญาเช่า หรือสัญญาอื่นในลักษณะเดียวกันของผู้ดำเนินการเดินอากาศไทย 8.หลักเกณฑ์การกำกับดูแลของผู้ดำเนินการเดินอากาศ และการประกอบกิจการการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ เป็นการอนุญาตให้จัดตั้งสายการบิน (AOL)
9.การเพิ่มอำนาจผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในการกำกับดูแลผู้ประจำหน้าที่ ตั้งแต่นักบินไปจนถึงลูกเรือ รวมทั้งคนที่ทำงานในแอร์ไซด์ 10.หลักเกณฑ์การรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกทางการบินพลเรือน 11. ข้อห้ามหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมที่รบกวนการเดินอากาศ 12. เรื่องเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน 13. หลักเกณฑ์ในการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน
14.หลักเกณฑ์การช่วยเหลือและค้นหาอากาศยานประสบภัย 15.เพิ่มอำนาจหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ตรวจสอบด้านการบิน ในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือ Inspector ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กฎหมายไม่มี 16.บทกำหนดโทษให้เข้มข้นขึ้น
นายอาคม กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุม กำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกและเศรษฐกิจการบินพลเรือนของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และรองรับการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบและการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล