WFH นาน ๆ กินข้าวไม่ตรงเวลา กินของผิดแปลกจากปกติ ดื่มแต่ชา กาแฟ จนเกิดอาการ กรดไหลย้อน ต้องแก้ปัญหาอย่างไรถึงจะได้ผล?
ชาวออฟฟิศหลาย ๆ ท่าย คงใช้ชีวิตบนความเร่งรีบ แต่ยิ่งเจอวิกฤตโควิด19 แบบนี้ชาวออฟฟิศอย่างเรา ๆ ก็ต้องเปลี่ยนมา WFH แทน จนทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา ชอบดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือกินอาหารแล้วก็นอนทันที นั้นอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของคุรได้ หากเกิดอาการ “เรอเปรี้ยว มีรสขมในปาก ปวดแสบร้อนในช่องท้องส่วนบน ปวดบริเวณหน้าอก” หลาย ๆ ท่านคงคิดไว้ก่อนว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการโรคกระเพาะอาหาร? ทั้งที่ความจริงอาจจะเป็น โรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร (Gastro esophageal Reflux Disease : GERD)
อาการแบบไหนเรียกกรดไหลย้อน?
ภาวะที่มีการขย้อนหรือไหลย้อนของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาในหลอดอาหาร จนทำให้มีอาการที่รบกวนชีวิตและการทำงาน สาเหตุเกิดความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่มีการบีบตัวผิดปกติ คือมีการคลายตัวมากและบ่อยกว่าปกติ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมากกว่าปกติ
ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
- อายุมากขึ้น
- ภาวะอ้วน
- การสูบบุหรี่
- การนอนราบภายหลังการรับประทานอาหาร
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพรินหรือยาแก้อักเสบ
- พฤติกรรมการบริโภคปริมาณมากในแต่ละมื้อ หรือการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น อาหารทอด หรือ อาหารที่มีไขมันสูง
- การดื่มเครื่องดื่มบางประเภท เช่น แอลกอฮอล์, กาแฟ หรือน้ำอัดลม
- การตั้งครรภ์เพราะระดับฮอร์โมนของคุณแม่ตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้
เช็คอาการเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวคุณ?
- อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก
- มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
- รู้สึกกลืนติดเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ
- ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ

กรดไหลย้อนแก้ได้ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- การปรับเปลี่ยนการทานอาหารให้เป็นเวลา
- ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณมากและไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต หากกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
- นอนปรับหัวหรือหนุนหัวให้สูง ในกรณีที่มีอาการตอนกลางคืน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
ถ้าหากไม่อยากเจอโรคกรดไหลย้อน ย้อนมาทำร้าย มาสร้างความทุกข์ทรมานและต้องทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนสามารถป้องกันหรือดูแลตนเอง ทำได้ง่ายๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงทุกรูปแบบ เพื่อชีวิตที่มีความสุขของตัวคุณ
ที่มา : โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล