เรียกว่ากลายเป็นอุทาหรณ์ช็อกวงการกินของดิบ ของดองกันเลยทีเดียว หลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ออกมาแถลงว่าพบผู้ป่วยโรค ‘พยาธิปอดหนู’ ขึ้นตา เป็นสาเหตุทำให้ตาขวาบอด 1 ข้าง โดยเป็นผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก โดยมีสาเหตุมาจากการทาน กุ้งแช่น้ำปลา เป็นประจำ วันนี้ ไบรท์ทูเดย์ (BrightToday) จะพาทุกคนไปรู้จักกับโรค พยาธิปอดหนู กัน

พยาธิปอดหนู คืออะไร
พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) เป็นพยาธิตัวกลมในสกุล Angiostrongylus ซึ่งตัวเต็มวัยที่แบ่งออกเป็น 2 เพศ ได้แก่ เพศผู้และเพศเมีย พบครั้งแรกในค.ศ. 1935 จากเส้นเลือดปอดหนูที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มันจะชอบเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดแดงใหญ่ของปอดหนู บางครั้งอาจพบอยู่ที่หัวใจซีกขวาของหนูได้เช่นกัน ก็เลยเรียกว่า “พยาธิปอดหนู”
สามารถพบพยาธิปอดหนูได้ทั่วโลกโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก คนติดเชื้อเกิดจากการรับประทานอาหารไม่สุกที่ปรุงจากหอยหรือทาก บางครั้งติดเชื้อจากการรับประทานพาราเทนิกโฮสต์และผักที่มีการปนเปื้อนระยะติดต่อ

วงจรชีวิต พยาธิปอดหนู
พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียอาศัยอยู่ที่เส้นเลือดแดงในปอดหนู เพศผู้และเพศเมียผสมพันธุ์กันออกไข่ ต่อมาตัวอ่อนฟักออกจากไข่เป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 และปนออกมากับอุจจาระของหนู ตัวอ่อนจะไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืด แล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ในระยะนี้หากคนรับประทานอาหารปรุงสุกๆดิบ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา ฯลฯ
อาการโรค พยาธิปอดหนู
พยาธิปอดหนูทําให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7 – 30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ โดยมีอาการดังนี้
- อาการเริ่มแรกจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก คอแข็ง
- บางรายมีอาการตาพร่ามัว เนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา
- มีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว
- บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้

ความรุนแรงของอาการ โรคพยาธิปอดหนู
ความรุนแรงของโรคมากน้อยขึ้นอยู่กับจํานวนพยาธิที่ได้รับเข้าไปและการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน (definitive diagnosis) ของโรคพยาธิปอดหนูในคน คือ การตรวจพบพยาธิที่ตา แต่สามารถทําได้น้อยราย วิธีการตรวจ วินิจฉัยที่สามารถทําได้ คือ การซักประวัติ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา
อาหารที่เสี่ยงพบ พยาธิปอดหนู
- หอยชนิดต่าง ๆ แบบสุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งหอยน้ำจืด หอยบก ทาก
- พาราเทนิก เช่น กบ, คางคก, ลูกอ๊อด, กุ้งน้ำจืด, ปลาน้ำจืด และตะกวด เป็นต้น
- ทานผักสดหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนตัวอ่อนระยะติดต่อ
อัตราการติดเชื้อของพยาธิปอดหนูในหอยเชอรี่ในไต้หวันมีอัตรา 21 % จีน 42 – 69 % และเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น 10 – 39% ในประเทศไทยพบว่ามีการนําหอยโข่งมาปรุงเป็นอาหารท้องถิ่นจึงทําให้เกิดการติดเชื้อพยาธิปอดหนู แต่ปริมาณหอยโข่งที่ติดเชื้อพยาธิปอดหนูมีอัตราที่ต่ํากว่าอัตราการติดเชื้อจากการกินหอยเชอรี่
ที่มา : บทความวิชาการ