เคยไหม? บางครั้งการคาดหวังให้เกิดความสมบูรณ์แบบในชีวิตที่มากจนเกินไป ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคกลัวความไม่สมบูรณ์แบบ หรือที่เราเรียกว่า Atelophobia วันนี้เราจึงนำสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคนี้ พร้อมทั้งแนวทางการรักษามาแชร์ให้ได้ทราบกันค่ะ
Atelophobia คืออะไร
Atelophobia คือโรคชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง ซึ่งคำว่า Atelophobia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก โดยคำว่า Atelo แปลว่า ความไม่สมบูรณ์แบบ และคำว่า phobia แปลว่า ความกลัว จึงรวมกันหมายถึง อาการกลัวความไม่สมบูรณ์แบบนั่นเอง
ทำไมถึงเป็น Atelophobia
Atelophobia มักเกิดจากภาวะที่เครียด กดดัน วิตกกังวลกับสิ่งที่ทำอยู่ การแข่งขันที่เยอะในสังคมปัจจุบัน จนไปถึงมีประสบการณ์ฝังใจจากวัยเด็ก ถ้าหากเครียดเกินไป กลัวจนไม่กล้าทำอะไรเลย ค่อยๆลองคุยกับตัวเองว่าปัญหาเกิดจากอะไร มีตรงไหนที่เราทำได้ไหม ลองทำดูให้คนอื่นช่วยดู หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางการดูแลต่อไป
ผลกระทบของ Atelophobia
ทางร่างกาย ก็อาจจะทำให้ปวดหัว ปวดท้องจากความเครียดได้ ส่วนทางจิตใจ มักจะมีความลังเลใจ ผัดวันประกันพรุ่ง หลีกเลี่ยงการที่ต้องทำอะไรที่ไม่มั่นใจ เช็กแล้วเช็กอีกกับงานหนึ่งชิ้น
สัญญาณที่เราพบได้บ่อยๆคือ
- กลัวข้อบกพร่อง ไม่มั่นใจที่จะทำ
- หลีกเลี่ยงงานหรือสถานการณ์ที่เราจะทำผิดพลาดได้
- มีมาตรฐานค่อนข้างสูง แต่ไม่พอใจกับสิ่งนั้น
3 แนวทางการรักษาอาการ Atelophobia
1.รักษาตามแนวทางการหยั่งเห็น
การรักษาตามแนวทางการหยั่งเห็นนั้น เป็นการรักษาที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับตัวเอง พยายามให้ผู้ป่วยได้เข้าใจและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งนี้เพื่อสามารถควบคุมและปรับปรุงความคิดและพฤติกรรมของตนเองได้ดียิ่งขึ้น
2.รักษาตามแนวทางพฤติกรรมบำบัด
การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้แนวทางการลดความกลัวด้วยเงื่อนไข วิธีการต่างๆ จะเป็นไปตามระบบ และเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความกลัว ทั้งนี้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะปรับใช้วิธีการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน
3.รักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก โดยอาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ใช้ชีวิตแบบคนปกติธรรมดาได้ยาก ดังนั้นแพทย์จึงใช้ยาจิตเวชเพื่อบรรเทาอาการของโรคร่วมด้วยนั่นเอง