หยุดพฤติกรรมเสี่ยง! 7 ความเชื่อเรื่อง “ยา” ที่ควรเลิกเชื่อได้แล้ว และคนมักจะเข้าใจผิดและทำตามกันอย่างต่อเนื่อง
ยา คือ แนวทางการรักษาโรคซึ่งก่อนที่จะรับประทานยาก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะการรับประทานยามากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี แต่หน่ำซ้ำยังส่งผลร้ายต่อการร่างกายอีกด้วย เนื่องจากร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดูดซึมยา และกำจัดยาออกจากร่างกาย ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็มักจะซื้อยามารับประทานเองและยังมีความเชื่อผิดๆ ที่ส่งต่อกัน จะมีอะไรบ้างมาดูเลย

7 ความเชื่อผิดๆ เรื่องยา
ขอหมอฉีดยาเพราะเข้าใจว่ายาฉีดดีกว่ายากิน
ผิด ประสิทธิภาพของยากินไม่ด้อยกว่ายาฉีด หากเป็นตัวยาชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นยากินหรือยาฉีดเมื่อใช้ในขนาดที่แนะนำ จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคพอ ๆ กัน ยาฉีดใช้ในกรณีผู้ป่วยวิกฤติหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หรือผู้ที่กำลังอาเจียน ไม่รู้สึกตัว กลืนยาไม่ได้
“กินยาดักไข้” ไว้ก่อนจะได้ไม่ป่วย
ผิด ยาลดไข้ ไม่ควรกินไว้ก่อนเพื่อป้องกันอาการไข้ การกินยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้หรืออุณหูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีเข้าไปโดยไม่จำเป็น และอาจมีผลข้างเคียงจากยาลดไข้ เช่น ภาวะตับอักเสบ
ยาทุกชนิดควรเก็บในตู้เย็น
ผิด ยาแต่ละชนิดมีความคงตัวต่างกัน ควรเก็บยาตามคำแนะนำบนฉลาก ยาบางชนิดหากเก็บในตู้เย็นอาจทำให้เกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญเนื่องจากความชื้นและอุณหภูมิไม่เหมาะสม เช่น ยาแคปซูลเกิดการเยิ้มติดกันจากความชื้น ยาครีมเป็นก้อนแตกแข็ง อีกทั้งยังทำให้เกิดสารพิษขึ้นได้ เช่น แช่ยาเม็ดแอสไพรินในตู้เย็นที่มีความชื้นสูงทำให้เกิดพิษ ร่างกายขาดออกซิเจน ชัก และหมดสติได้เมื่อรับในปริมาณสูง
ยาของไทยประสิทธิภาพน้อยกว่ายาต่างประเทศ
ผิด ไม่ว่ายาจะผลิตขึ้นในไทยหรือต่างประเทศย่อมผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตและประกันคุณภาพของ FDA ประเทศนั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่ายาที่มีจำหน่ายอย่างถูกกฎหมายให้ประสิทธิภาพการรักษาเช่นเดียวกันหากใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ต่างกันที่ราคาซึ่งยาต้นแบบจะมีราคาสูงกว่ายาสามัญ (ยาที่มีตัวยาสำคัญชนิดเดียวกันกับยาต้นแบบที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ แต่ผลิตขึ้นมาภายหลัง) เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดต้องผ่านการรับรองทั้งนั้น
ปัสสาวะเปลี่ยนสี แปลว่ายานั้นออกฤทธิ์ดี
ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับชนิดของยา หากกินยาแล้วสีของปัสสาวะเปลี่ยนไปอาจสื่อได้ 2 แบบ คือ
- ปัสสาวะเปลี่ยนสีจากการที่ยาถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เช่น กินยากันชัก Phenytoin ทำให้ปัสสาวะสีแดง หรือ ยาระบายมะขามแขก ทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลถึงดำ เป็นต้น ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งสีของปัสสาวะอาจแตกต่างกันได้ในแต่ละคน
- ปัสสาวะเปลี่ยนสีจากผลข้างเคียงของยา บ่งบอกถึงอันตรายหรือความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น กินยาลดไขมันในเลือดบางกลุ่ม แล้วปัสสาวะมีสีน้ำตาลแดง ร่วมกับปวดกล้ามเนื้อ บ่งบอกถึงอาการไม่พึงประสงค์ของยาที่รุนแรง ต้องรีบพบแพทย์
ยาทาภายนอก ทาเยอะ ทาบ่อย ไม่เป็นอันตราย
ผิด โครงสร้างผิวหนังแต่ละแห่งมีผลต่อการดูดซึมตัวยาไม่เท่ากัน บริเวณที่ผิวบาง เช่น ใบหน้า จึงไม่ควรใช้ยาที่มีความเข้มข้นสูงหรือทายาในปริมาณมาก การใช้ยาในปริมาณมากและบ่อยไม่ได้ทำให้อาการหายไวขึ้น แต่อาจเพิ่มอันตรายจากตัวยาที่มากเกินไปถูกดูซึมเข้ากระแสเลือดเกิดผลข้างเคียงจากยา รวมถึงระคายเคืองบริเวณที่ทาได้
เลือกตัวยาที่มีฤทธิ์แรง เพื่อผลการรักษาที่ดีกว่า
ผิด หากมีการตอบสนองต่อยาทั่วไปดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่าเพื่อหวังผลการรักษาที่ดีกว่า เพราะยาที่ออกฤทธิ์แรงอาจมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น และเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ยาที่มีฤทธิ์แรงเหมาะสำหรับผู้ที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่มีฤทธิ์อ่อน เกิดการติดเชื้อรุนแรง ดื้อยา หรืออาการของโรคซับซ้อน
แหล่งที่มา oryor
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY