เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องเคยเจอสถานการณ์บีบบังคับที่ทำให้เราต้องกลั้นปัสสาวะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การกลั้นเป็นครั้งคราวก็อาจไม่ส่งผลเสียอะไรมากนัก แต่หากอั้นปัสสาวะจนติดเป็นนิสัย ร่างกายก็จะไม่ได้ขับของเสียอย่างที่ควรจะเป็น การกลั้นปัสสาวะเป็นประจำจึงอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นพอกันที! หยุดพฤติกรรมเหล่านี้ ก่อน ‘กระเพาะปัสสาวะอักเสบ‘ จะมาเยือน
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI) จนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น เป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย โดย ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดกับทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้ง่าย ต่างจากผู้ชายที่มีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนักมากกว่า โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีน้อยกว่า
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากอะไร?
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
เป็นสาเหตุหลักที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล ซึ่งพบได้มากถึง 75-95% และเชื้อแบคทีเรียเคล็บซิลลา ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอยู่มากในลำไส้ และบริเวณรอบๆทวารหนัก เชื้อเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การเช็ดก้นในลักษณะจากด้านหลังมาทางด้านหน้า การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด รวมไปถึงการสวนปัสสาวะ โดยในผู้ชายจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะยาวและอยู่ห่างจากทวารหนักมาก
เชื้อโรคเหล่านี้จึงมักลักลอบเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของเราโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเราถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่ปวดร่างกายก็จะสามารถขับเอาเชื้อโรคนั้นออกมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ แต่หากกลั้นปัสสาวะนานๆ เชื้อโรคก็จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้นร่วมกับมีแรงดันในกระเพาะปัสสาวะที่มากขึ้น ทำให้เยื่อบุผิวยึดตัวจนเชื้อโรคฝังตัวอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนเกิดการอักเสบได้
- ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย แต่ก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การใช้ยา ส่วนประกอบในยาบางชนิดอาจมีผลต่อการอักเสบหรือระคายเคืองของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะยาเคมีบำบัด เช่น ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ และยาไอฟอสฟามายด์
- การฉายรังสีบริเวณช่องเชิงกราน ทำให้เนื้อเยื่อภายในกระเพาะปัสสาวะบริเวณที่โดนฉายรังสีเกิดการอักเสบขึ้นได้
- สิ่งแปลกปลอมภายนอก เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการติดเชื้อและทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบตามมา
- สารเคมี บางคนอาจมีความไวหรือระคายเคืองต่อสารเคมีในผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์อาบน้ำหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
- ปัญหาสุขภาพ อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว เช่นนิ่ว, ต่อมลูกหมากโต หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน (Honeymoon cystitis) มีสาเหตุมาจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ
อาการเตือนที่ควรรู้
- ปัสสาวะบ่อย กะปริดกระปรอย ครั้งละน้อยๆ มีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุด
- รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัด ร้อนขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
- ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ หรือ อาจปัสสาวะมีเลือดปน
- มักไม่มีไข้ (ยกเว้นถ้ามีกรวยไตอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะสีขุ่น และมีปวดเอวร่วมด้วย)
- ในเด็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน มีไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน อ่อนเพลีย
- ในผู้สูงอายุบางคน จะไม่มีอาการทางปัสสาวะ แต่จะมีอาการอ่อนเพลีย สับสน หรือมีไข้
อย่าปล่อยไว้อันตรายกว่าที่คิด
หากกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้วไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เชื้ออาจแพร่กระจายไปจนถึงกรวยไต ทำให้กรวยไตอักเสบ และอาจจะสร้างความเสียหายกับไตอย่างถาวรได้ อาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง ปวดเอว ไข้สูง หนาวสั่น ยิ่งหากมีการอักเสบติดเชื้อรุนแรง อาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับผู้ชายเชื้อก็อาจลุกลามเข้าไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ หรืออัณฑะอักเสบขึ้นได้อีกด้วย
ที่มา : นพ.ธนัท เธียรสุคนธ์ ศัลยแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะและโรคนิ่ว รพ.พญาไท 3