รู้สึกเจ็บเหงือก มีอาการบวม แดง หรือมีเลือดออกขณะแปรงฟัน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ เหงือกอักเสบ อันจะนำไปสู่การสูญเสียฟันที่ยังดีๆ แบบที่ไม่ควรเสียก็เป็นได้
สัญญาณสุขภาพในช่องปากจากการมีเหงือกบวมอักเสบ
เหงือกบวม อักเสบ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น มีเลือดออกขณะแปรงฟัน สีของเหงือกเปลี่ยนไปจากสีชมพูอ่อนหรือจากสีเดิมกลายเป็นสีแดงเข้ม หรือมีอาการบวม
เมื่อเหงือกอักเสบก็จะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดการระคายเหงือก เจ็บหรือปวดเหงือก เสียวฟัน ปวดฟัน จนไม่อยากดื่มน้ำหรือเคี้ยวอาหาร ทำให้เสียสุขภาพ และอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียฟันได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือก ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ ป้องกันการลุกลามและวางแผนการรักษาทันที
เหงือกบวม เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เหงือกบวม เหงือกอักเสบ โดยมีทั้งแบบรุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากจนลุกลามอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น หากมีอาการหรือข้อสงสัยดังต่อไปนี้ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ วินิจฉัย และรักษาอย่างทุกต้องตรงจุดจะดีกว่า ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น
- เกิดจากเหงือกอักเสบ ที่เรียกว่า “โรคปริทันต์อักเสบ” (Periodontal disease) เพราะคราบจุลินทรีย์ที่สะสมในช่องปากทำให้เกิดคราบหินปูนเกาะ เมื่อเวลาผ่านไปจึงเกิดการระคายเคืองต่อเหงือก และเกิดการอักเสบในเวลาต่อมา
- เกิดการติดเชื้อในช่องปาก เพราะการทำความสะอาดฟันและเหงือกไม่ถูกสุขลักษณะ
- เกิดจากการมีฟันผุ โดยเฉพาะหากลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน จะทำให้เหงือกบวมเป็นตุ่มเล็กๆ มีหนอง และเกิดหลุมกว้าง อาการแบบนี้ต้องรีบรักษาก่อนลุกลามจนสูญเสียฟัน
- เกิดจากการมีฟันคุด และมีการระคายเคืองติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง
- เกิดจากการมีกระดูกงอก ทำให้มีการดันเหงือกออกมาจนเกิดอาการอักเสบ
- เกิดการบาดเจ็บของเหงือกจากแผลร้อนในที่ตรงกับบริเวณเหงือกพอดี
- เกิดภาวะขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินบีและซี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความแข็งแรงของฟันและเหงือก
- เกิดจากผลข้างเคียงของการกินยาบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิดบางอย่าง ยากันชักบางชนิด
- เกิดจากการระคายเคืองในการติดอุปกรณ์ทางทันตกรรม เช่น เหล็กจัดฟัน รีเทนเนอร์ ฟันปลอม
- เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์
- เกิดจากก้อนมะเร็ง ซึ่งอาจสังเกตได้จากลักษณะเหงือกบวมฟูคล้ายดอกกะหล่ำ มีอาการชา และลุกลามอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เหงือกอักเสบยังเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างในการดูแลสุขภาพภายในช่องปาก เช่น การเปลี่ยนยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก ซึ่งอาจไปกระตุ้นปฏิกิริยาหรือแพ้สารประกอบบางอย่างจนทำให้เกิดการระคายเคือง กลายเป็นแผลในช่องปาก รวมถึงการใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป หรือใช้ไหมขัดฟันผิดวิธี
รักษาอย่างไร เมื่อมีปัญหาเหงือกบวม เหงือกอักเสบ
แม้อาการเหงือกบวมจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หากเป็นอาการในระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้กลับมาหายดีได้ โดยเฉพาะเมื่อทำการรักษาก่อนที่กระดูกและเนื้อเยื่อโดยรอบที่พยุงและโอบรัดฟันอยู่นั้นยังไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการรักษาสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
- ทำการขูดหินปูน เกลารากฟันด้วยเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้าและเครื่องมือเฉพาะด้านทันตกรรม เพื่อกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะลึกลงไปยังผิวรากฟันในร่องเหงือก เหนือเหงือกและใต้เหงือก เพื่อให้ผิวรากฟันสะอาดและเรียบเนียน เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนเหนือเหงือกและใต้เหงือกให้หมดไป
- เมื่อรักษาเสร็จแล้ว ต้องดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง เช่น แปรงฟันวันละสองครั้งด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มบาง เพื่อให้แปรงสามารถเข้าถึงซอกใต้ขอบเหงือกและไม่ทำร้ายเหงือกให้ระคายเคือง ทั้งนี้ควรวางแปรงสีฟันโดยทำมุม 45 องศากับขอบเหงือก แปรงจากล่างขึ้นบนและจากบนลงล่าง รวมถึงการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี ด้วยการสอดไหมขัดฟันเข้าไประหว่างซี่ฟัน แล้วพันไหมขัดฟันให้เป็นรูปตัว C ขัดถูแนบไปกับผิวฟันเบาๆ และให้ลงไปถึงใต้ขอบเหงือก โดยทำให้ครบทุกซี่ เพื่อป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์และการเกิดหินปูนเกาะใหม่ ทั้งนี้คนไข้อาจเข้ารับการขูดหินน้ำลาย (คราบแข็งที่ติดตามตัวฟัน) ปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการกลับมาของโรค