รู้หรือไม่! การยกของหนัก อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่หลัง กล้ามเนื้อหลังฉีกขาด มาดู 5 วิธียกของหนัก ป้องกันโรคกระดูกสันหลังทับเส้น
ใครที่ต้องยกของหนักต้องระวัง เพราะถ้าหากผิดท่าหรือผิดวิธีไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่หลังเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น คอ ไหล่ ข้อศอก หัวเข่า ขา ข้อเท้า ได้ วันนี้ Bright TV จึงมาแชร์ 5 วิธียกของหนัก ป้องกันโรคกระดูกสันหลังทับเส้น

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนยกของหนัก
- วางแผนเกี่ยวกับสิ่งของที่จะยก เช่น ต้องการยกสิ่งของไปวางตรงไหน เส้นทางที่จะยกไปมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ถ้ามีควรจัดเก็บสิ่งกีดขวางให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเดินชนหรือสะดุดล้ม รวมถึงตรวจสอบว่าน้ำหนักของสิ่งของสามารถยกคนเดียวในครั้งเดียวได้หรือไม่
- อาจใช้เครื่องทุ่นแรงอย่างลิฟต์หรือรถเข็นมาช่วยยก
- ยืดกล้ามเนื้อประมาณ 2–3 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียน ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นสูงและสามารถรองรับการทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก ๆ ได้ดี
ยกของหนักด้วยท่าทางที่ถูกต้อง
- ยืนใกล้กับสิ่งของที่จะยกในระยะที่ไม่ต้องเอื้อมตัวไปข้างหน้าเวลายกของ แยกเท้าทั้งสองข้างออกจากกันให้ได้ความกว้างเท่ากับระยะของช่วงไหล่ โดยวางเท้าข้างหนึ่งให้อยู่ข้างหน้าเท้าอีกข้างหนึ่งเล็กน้อยเพื่อสร้างสมดุลขณะยก
- งอเข่าข้างหนึ่ง ย่อตัวลง หลังตรง ไม่ก้มหลังลงยกของ
- ใช้มือทั้งสองข้างจับของที่จะยกให้มั่นคง ยกของให้อยู่ในระดับความสูงประมาณสะดือ และของควรอยู่ชิดลำตัวเสมอ เพื่อให้สามารถยกของได้อย่างมั่นคงและสมดุล
- ขณะยืนขึ้นจากท่าย่อตัว หลังต้องตรง และแรงฉุดในการยกของขึ้นควรมาจากกล้ามเนื้อขา ไม่ควรใช้แรงจากหลัง
- ค่อย ๆ เคลื่อนไหวร่างกายในขณะยกของ ไม่รีบร้อนและไม่บิดหรือเอี้ยวตัวในขณะที่กำลังยกของ หากต้องการหันไปในทิศทางอื่นให้ใช้ขาก้าวนำไปก่อน แล้วจึงค่อยหมุนลำตัวตามไป
วางของหนักลงกับพื้นด้วยท่าทางที่ถูกต้อง
- ท่าทางเดียวกับการยกของในลักษณะแบบย้อนกลับ
- ถือของให้อยู่ใกล้กับลำตัว
- ค่อย ๆ งอเข่าหรือย่อตัวลงเมื่อถึงบริเวณที่จะวางสิ่งของ
- ในขณะที่วางของให้งอเพียงแค่หัวเข่ากับสะโพกเท่านั้น
- เกร็งหลังให้ตรง เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
- จากนั้นวางของลงช้า ๆ และไม่ควรกลั้นหายใจในระหว่างที่วางของด้วย
ข้อควรรู้และข้อควรระวัง
- ควรยืดกล้ามเนื้อหรืออบอุ่นร่างกายก่อนยกของหนักทุกครั้งเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
- ควรงอเข่าเสมอเมื่อต้องยกสิ่งของ แม้ว่าสิ่งของนั้นจะดูเหมือนมีน้ำหนักเบาก็ตาม
- อาจใส่อุปกรณ์ป้องกันหากทำงานที่ต้องยกของหนักอยู่เสมอ เช่น ถุงมือ รองเท้าที่กันกระแทกได้ดี
- หยุดพักหากรู้สึกเหนื่อยในขณะที่ยกของ และไม่ควรถือสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเป็นเวลานานเกินไป
- ไม่ควรยกของหนักหากรู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า หรือมีอาการบาดเจ็บ
- ไม่ควรกลั้นหายใจในขณะที่กำลังยกของหนัก เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกระดูกเชิงกรานทำงานไม่สัมพันธ์กัน
แหล่งที่มา Pobpad
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY