ในปัจจุบันได้มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของ ยาสมุนไพรรักษาโรคไต-ถั่งเช่า หลายชนิด ว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังให้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยง่าย ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและนำมาแปรรูปเป็นแคปซูล หรือในรูปแบบต่าง ๆ
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ เนื่องจาก
- ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไต
- สมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก
- สมุนไพรอาจมีสารปลอมปน เช่น ยาแก้ปวด สเตียรอยด์
- สมุนไพรและพืชบางชนิดมีพิษต่อไตโดยตรง หรือทำให้เกิดผลเสียในผู้ป่วยโรคไตได้ เช่น ไคร้เครือ (Aristolochia) ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังและมะเร็งทางเดินปัสสาวะ, มะเฟือง (Star fruit) ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน, ปอกะบิด (East Indian screw tree) ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ, ชะเอมเทศ (Licorice) ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, น้ำลูกยอ (Morinda citrifolia L) ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
- สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้
สำหรับสมุนไพรอีกชนิด คือ ถั่งเช่า ซึ่งมีแพร่หลายอย่างมาก มีทั้งศิลปิน ดารา นักแสดง พิธีกร ต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำสินค้าบนโลกออนไลน์โซเชียลมีเดียนั้น สมาคมโรคไตฯขอยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย
ส่วนถั่งเช่าที่มีการศึกษาในมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่เป็น ถั่งเช่าจากทิเบต (Cordyceps sinensis) ที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีราคาสูงมาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบถึงผลดีผลเสียในระยะยาวได้และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนมีโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งจะมีผลเสียต่อไตในระยะยาว
โดยสรุปการที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเราต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีค่าการทำงานของไตลดลงอยู่แล้ว ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อไตทั้งหมด